SUSTAINABLE PACKAGING บรรจุภัณฑ์เพื่อความยั่งยืนของโลก
SUSTAINABLE
PACKAGING บรรจุภัณฑ์เพื่อความยั่งยืนของโลก
วิกฤติสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่คนทั้งโลกกำลังต้องเผชิญ
เพราะฉะนั้นการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน หรือ Sustainable Packaging
จึงไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป ทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญและเลือกใช้ให้ถูกวิธีเพื่อให้สามารถย่อยสลายได้อย่างสมบูรณ์และไม่ทำร้ายโลกมากไปกว่าเดิม
Sustainable
Packaging คืออะไร
บรรจุภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน
(Sustainability Packaging) เป็นบรรจุภัณฑ์ทางเลือกที่ใช้วัสดุจากธรรมชาติในกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ
ใช้สำหรับห่อ เก็บ จัดส่ง หรือวางจำหน่ายสินค้า ที่สำคัญต้องเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ปลอดภัย
ทนทาน รักษาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้มีอายุการเก็บตามที่กำหนด และสะดวกในการใช้งาน
หลักการออกแบบ
Sustainable Packaging
การออกแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อความยั่งยืนจะใช้หลักการ 4R ประกอบไปด้วย
- Reduce ลดปริมาณการใช้วัสดุบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม ใช้ทรัพยากรเท่าที่จำเป็น ลดความหนา ความหนัก นำชิ้นส่วนที่ไม่จำเป็นออกไป ใช้ให้ถูกประเภทและถูกวัตถุประสงค์ เพื่อช่วยลดขยะและมลพิษ
- Reuse ใช้บรรจุภัณฑ์ซ้ำได้หลายครั้ง มีความคุ้มค่า ช่วยลดขยะมูลฝอย ลดการใช้ทรัพยากร เช่น ขวดแก้วบรรจุเครื่องดื่มซ้ำได้หลายครั้งจนกว่าขวดจะชำรุด ฯลฯ
- Repair นำบรรจุภัณฑ์ที่เกิดความเสียหายมาซ่อมแซมจนใช้งานได้ ช่วยลดขยะเพราะไม่ต้องทิ้ง เช่น นำกล่องกระดาษลังที่มีรอยขาดมาแปะด้วยเทปกาวเพื่อนำกลับมาใช้งาน ฯลฯ
- Recycle การนำกลับมาใช้ใหม่ โดยนำบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วมาแปรรูปใหม่ เช่น
หลอมบรรจุภัณฑ์ที่เป็นพลาสติก PET จนเป็นเม็ดพลาสติกที่ใช้ผลิตเสื้อผ้าได้
ฯลฯ
วัสดุที่ใช้ทำ Sustainable Packaging
- กระดาษ รีไซเคิลและย่อยสลายได้ง่าย เช่น กล่องลูกฟูก กระดาษคราฟท์ กล่องกระดาษแข็ง ช่วยป้องกันสินค้าเปราะบางระหว่างขนส่ง
- แป้งข้าวโพด วัสดุทดแทนพลาสติก ใช้เพื่อผลิตขวด โฟมขึ้นรูป สารตัวเติมที่รีไซเคิลหรือย่อยสลายได้
- ผ้าออร์แกนิก เช่น ป่าน ฝ้าย มันสำปะหลัง ใช้ซ้ำได้หลายครั้งและย่อยสลายได้เร็วกว่าพลาสติกทั่วไป
- เห็ด มักนำมาผสมกับวัสดุธรรมชาติอื่นๆ เพื่อทำเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ประหยัดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสามารถขึ้นรูปเป็นรูปทรงต่างๆ ตามที่ต้องการและย่อยสลายได้โดยไม่มีสารตกค้าง
- สาหร่าย สารทดแทนพลาสติกจากธรรมชาติ มักใช้ในบรรจุภัณฑ์อาหาร ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ
- พลาสติกรีไซเคิลประเภท PET หรือ HDPE รีไซเคิลได้ง่าย
- พลาสติกที่สลายตัวได้ทางชีวภาพ (Polylactic acid - PLA)
จุดเด่นของบรรจุภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน
- นำกลับมาใช้ซ้ำหรือรีไซเคิลได้ง่าย
- ผลิตจากวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ย่อยสลายได้
- ใช้พลังงานและทรัพยากรการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ
- ลดปริมาณการใช้วัสดุโดยรวม แต่ปกป้องสินค้าได้
- ไม่มีสารพิษหรือสารเคมีที่อาจปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม
ทำไมต้อง Sustainable Packaging
- โลกต้องการบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน จากผลสำรวจทั่วโลกพบว่ากว่า 42% ของพลาสติกถูกผลิตขึ้นมาเพื่อใช้บรรจุภัณฑ์และส่วนใหญ่ผลิตมาใช้เพียงครั้งเดียวจึงก่อให้เกิดปัญหามลภาวะระยะยาวในระบบนิเวศและใช้เวลานานถึง 20 ถึง 400 ปีหรืออาจจะมากกว่านั้นในการย่อยสลายพลาสติกจึงควรใช้บรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน
- บังคับลดการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติก ในหลายประเทศ อย่างออสเตรเลียประกาศแผนระดับชาติที่จะงดใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียว อินโดนีเซียและไทยเรียกร้องให้มีมาตรการลดจำนวนการใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียว
- ผู้บริโภคชอบบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน ข้อมูลจาก Ranpak และ Harris Research ระบุว่าลูกค้าอีคอมเมิร์ซส่วนใหญ่ในอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี ต้องการสั่งซื้อสินค้าจากบริษัทที่ใช้บรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน
- บรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืนปกป้องสินค้าได้ดี อย่างกระดาษเป็นวัสดุเก่าแก่ที่สุดที่ใช้ในบรรจุภัณฑ์ที่ยืดหยุ่นปรับเปลี่ยนได้ตามสินค้า นำไปประยุกต์ใช้ได้ดี ใช้กับสินค้าที่ควบคุมอุณหภูมิได้
- โมเดลธุรกิจที่พัฒนาอย่างยั่งยืน ดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG - Environment Social and Governance) เป็นปัจจัยสำคัญ
มุ่งสู่เป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมโลก
ปัจจุบันหน่วยงานกำกับดูแลทั่วโลกเพิ่มความเข้มงวดมากขึ้น กำหนดให้ธุรกิจต้องมีความโปร่งใสในทุกขั้นตอนของห่วงโซ่อุปทาน โดยแนวทางด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลกกำลังกดดันให้ผู้ผลิตปรับตัวตามกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดมากขึ้น เช่น โครงการของ Green Electronics Council ที่นำมาตรฐานบรรจุภัณฑ์ยั่งยืนมาใช้เป็นเกณฑ์ในระบบ EPEAT (Electronic Product Environmental Assessment Tool) โดยเฉพาะอุตสาหกรรม Consumer Electronics ที่หลายประเทศกำลังออกข้อบังคับเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์เพื่อผลักดันให้อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ใช้บรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน อีกทั้งแนวทางใหม่ไม่ได้เน้นแค่การใช้วัสดุที่รีไซเคิลได้เท่านั้น แต่ยังต้องคำนึงถึงการออกแบบให้นำกลับมาใช้ใหม่หรือรีไซเคิลได้ง่ายขึ้น เช่น สหภาพยุโรปกำหนดมาตรการว่าด้วยบรรจุภัณฑ์และของเสียจากบรรจุภัณฑ์ (1994/62/EC) ในอเมริกามีกฎหมายที่ควบคุมสารพิษในบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น
ข้อมูลอ้างอิง :
- tipa-corp.com/sustainable-packaging/
- www.thaipackmagazine.com/activity/บรรจุภัณฑ์เพื่อความยั่/
- www.misc.co.th/6-reasons-why-sustainable-packaging-is-a-global-megatrend/
- techsauce.co/sustainable-focus/sustainable-packaging-trends-in-the-consumer-electronics-industry
- www.greencartonbox.com/what-is-sustainable-packaging/
- redstagfulfillment.com/sustainable-packaging/

