Notifications

You are here

บทความ

อ่านแล้วเขียนฯ กับวีรพร นิติประภา นักเขียนดับเบิลซ...

31 มกราคม 2023 312 อ่านข่าวนี้ 1 ปีก่อน 7


กิจกรรม Library Alive จัดโดย OKMD, TK Park กรุงเทพมหานคร และสำนักพิมพ์มติชน ได้เดินทางมาถึงครั้งที่ 7 แล้ว เริ่มจากที่ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ วัดราชโอรสารามเป็นแห่งแรก และมายังห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ซอยพระนาง เป็นครั้งสุดท้าย โดยครั้งนี้จัดขึ้นในหัวข้อน่าสนใจสำหรับนักอยากเขียนมากๆ คือ อ่านแล้วเขียน เรียนรู้ด้วยตนเอง: เขียนอย่างเป็นธรรมชาติ กับวีรพร นิติประภา นักเขียนดับเบิลซีไรต์ชื่อดัง เจ้าของผลงาน ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต และ พุทธศักราชอัสดง กับความทรงจำของแมวกุหลาบดำ ซึ่งไม่บ่อยครั้งจะมาร่วมสนทนาอย่างใกล้ชิดเช่นนี้ ท่ามกลางบรรยากาศอันร่มรื่นสวยงามของห้องสมุดฯ ที่ได้ชื่อว่าเป็น ห้องสมุดที่มีอัตลักษณ์โดดเด่นด้านวรรณกรรม เพราะมีหนังสือแนววรรณกรรมให้เด็กและคนทั่วไปได้เลือกอ่านอย่างหลากหลาย

ดังนั้น ก่อนเปิดกิจกรรมเรื่อง อ่านแล้วเขียนฯ กับนักเขียนดับเบิลซีไรต์ ไปทำความรู้จักกับห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ซอยพระนาง หรือเรียกสั้นๆ ว่า ห้องสมุดซอยพระนาง กันก่อน


สำรวจห้องสมุดซอยพระนาง: ห้องสมุดที่มีอัตลักษณ์ด้านวรรณกรรม

หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า ห้องสมุดซอยพระนาง ซึ่งวางตัวอยู่ในพื้นที่ไม่ห่างจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมินั้น มีประวัติความเป็นมาน่าสนใจหลายประการ เริ่มจากเป็นห้องสมุดที่มีชื่อเรียกตามซอยที่ตั้งคือซอยพระนาง อันเป็นที่ตั้งวังประทับของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงลักษมีลาวัณ อดีตพระคู่หมั้นในรัชกาลที่ 6 ผู้ทรงโปรดการประพันธ์ และเป็นผู้สืบสานละครปรีดาลัย ที่ได้รับความนิยมในสมัยก่อน โดยเปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 ซึ่งเป็นปีครบรอบ 100 ปีชาตกาล มหาตมะ คานธี บุคคลสำคัญของโลก อดีตราชทูตอินเดียสมัยนั้นกับชาวอินเดียที่อาศัยอยู่ในเมืองไทย จึงได้บริจาคทรัพย์เพื่อสร้างห้องอนุสรณ์ระลึกถึงท่านขึ้นที่นี่ ทำให้ห้องสมุดมีหนังสือเกี่ยวกับมหาตมะ คานธี เป็นจำนวนมาก ท่ามกลางหนังสืออื่นๆ แต่ภายหลังห้องสมุดมีการปรับปรุงอาคารใหม่ ในปี พ.ศ.2548-2550 ก็เลยต้องโอนย้ายหนังสือของท่านไปไว้ยังห้องสมุดอื่น เมื่อห้องสมุดกลับมาเปิดบริการใหม่อีกครั้งในปี พ.ศ.2550 จึงเหลือเพียงมุมระลึกถึงท่าน เป็นมุมแสดงเฉพาะภาพเท่านั้น

นอกจากนั้น ในการปรับปรุงห้องสมุดใหม่ยังมีการต่อเติมอาคารเพิ่มขึ้นด้วย เป็นอาคารเชื่อมต่อกับอาคารเก่า สูง 3 ชั้นเท่ากัน โดยชั้นล่างสุด สำหรับอาคารเก่าจะเป็นโซนประชาสัมพันธ์ ตู้ยืมหนังสือด้วยตนเอง มุมนิยาย-นิตยสาร-วารสารใหม่ มุมอ่านหนังสือพร้อมบริการอินเตอร์เน็ต ส่วนอาคารใหม่จัดเป็นห้องสำหรับเด็ก, ชั้นที่สอง สำหรับอาคารเก่าจะเป็นโซนหนังสือวิชาการกับหนังสืออ้างอิง และมุมระลึกถึงมหาตมะ คานธี ส่วนอาคารใหม่จัดเป็นห้อง Co-working Space และชั้นที่สาม สำหรับอาคารเก่าจะเป็นโซนนิยายไทย นิยายจีน นิยายแปลอื่นๆ และนวนิยายบางเล่มของอาจินต์ ปัญจพรรค์ นักเขียน-ศิลปินแห่งชาติ เจ้าของบทประพันธ์ เหมืองแร่ อันเอกอุ ส่วนอาคารใหม่จัดเป็นห้องหนังสือของท่านอาจินต์โดยเฉพาะเลย เนื่องจากท่านได้บริจาคหนังสือนับหมื่นเล่มให้กับห้องสมุด จนบางคนเรียกที่นี่ว่าห้องสมุดอาจินต์ ปัญจพรรค์ ตลอดจนมีมุมหนังสืออักษรเบรลล์สำหรับผู้พิการทางสายตา และห้องฉายภาพยนตร์ที่ทันสมัยรวมอยู่ด้วย

ในเวลาเดียวกัน ห้องสมุดก็ยังมีหนังสือของศรีบูรพาหรือกุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นจำนวนพอสมควร เนื่องจากท่านเป็นหนึ่งในนักเขียนสำคัญของประเทศ และมีบ้านพักอาศัยอยู่ในซอยนี้เช่นกัน เป็นบ้านสวยทรงยุโรปซึ่งได้รับประทานที่ดินมาจากม.จ.วรรณไวทยากร วรวรรณ (ต่อมาได้รับสถาปนาเป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์) ผู้ทรงเป็นนักประพันธ์ และม.จ.วรรณไวทยากร ก็ได้รับพระราชทานที่ดินผืนนี้มาจากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงลักษมีลาวัณนั่นเอง

จึงเห็นได้ว่า ห้องสมุดซอยพระนางตั้งอยู่ในชุมชนเมืองที่มีพื้นที่เชื่อมโยงกันอย่างน่าสนใจ และเกี่ยวข้องกับนักเขียนสำคัญๆ หลายคน ทำให้มีหนังสือแนววรรณกรรมรวบรวมไว้มากมาย จนเป็นที่มาของห้องสมุดที่มีอัตลักษณ์โดดเด่นด้านวรรณกรรมที่สุด


อ่านแล้วเขียน เรียนรู้ด้วยตนเอง กับนักเขียนดับเบิลซีไรต์

          หลังจากสำรวจห้องสมุดซอยพระนางทุกซอกมุมแล้ว ก็ถึงเวลาสำหรับกิจกรรม Library Alive อ่านแล้วเขียน เรียนรู้ด้วยตนเอง ที่มาในหัวข้อสนทนา เขียนอย่างเป็นธรรมชาติ กับวีรพร นิติประภา หรือพี่แหม่มแห่งวงการนักเขียน โดยมีคุณโตมร ศุขปรีชา ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และนวัตกรรมการเรียนรู้ OKMD ชวนคุยอย่างสนุกสนาน

คำถามสำคัญในการสนทนามีอยู่ไม่มาก แต่ทุกคำตอบของพี่แหม่มเปิดโลกให้กับนักอยากเขียนได้ดีทีเดียว ดังนี้ 


·       เริ่มจากเขียนบันทึกทุกวัน วันแรกๆ อาจจะเขียนซ้ำ แต่วันถัดไป เราจะมองหาสิ่งอื่นมาเขียนเพื่อหลีกหนีความจำเจ

ในทัศนะของพี่แหม่ม การเขียนไม่ต่างอะไรกับการพูด เวลาเราพูด เราต้องการแลกเปลี่ยนสิ่งที่เห็นหรือจดจำมากับคนอื่น การเขียนก็เหมือนกัน เราเขียนเพราะเราต้องการสื่อสารบางอย่างเพื่อเชื่อมโยงตัวเรากับคนอื่น ขณะเดียวกันก็เชื่อมโยงกับตัวเราเองด้วย ซึ่งบางคนอาจเขียนเป็นโปสต์การ์ดหรือจดหมาย แต่ปัจจุบันมักเห็นเป็นข้อความเขียนลงกันบนโซเชียลมีเดียบ่อยๆ เพียงแต่นั่นยังไม่เป็นการเขียนจริงจัง

          พอเป็นการเขียนจริงจัง จะต้องมีเป้าหมายว่าเขียนเพื่ออะไร และยังแยกออกมาเป็นเขียนแบบไหน เขียนเพื่อความบันเทิงเริงรมย์ หรือเขียนเพื่อเป็นวรรณกรรมที่มีส่วนผสมของศิลปะสูงขึ้น

          ดังนั้น สำหรับพี่แหม่ม การเขียนจึงเป็นงานวิชวลไลซ์ (Visualize) หรือการทำภาพให้ออกมาเป็นตัวอักษร ซึ่งสมัยก่อนจะมีการแนะนำการเป็นนักเขียน ให้เริ่มจากการเขียนบันทึกก่อน โดยพี่แหม่มก็เริ่มจากการเขียนบันทึกเช่นกัน เพราะการบันทึกคือการทำเรื่องหลายเรื่องให้เป็นหนึ่งเรื่อง ยกตัวอย่าง การเขียนบันทึกบนรถไฟฟ้า วันที่หนึ่งถึงวันที่สี่ อาจจะเขียนว่าวันนี้นั่งรถไฟฟ้าไปทำงาน ตกเย็นนั่งรถไฟฟ้ากลับบ้าน ซ้ำไปซ้ำมา จนถึงวันที่ห้าที่หก เราจะเริ่มมองหาสิ่งอื่นมาเขียนเพื่อหลีกหนีความจำเจของตัวเอง โดยการคิดหรือจินตนาการมากไปกว่าสิ่งที่เห็น จนเข้าไปถึงความทรงจำ จากเรื่องที่คิดหรือจินตนาการหลายๆ เรื่อง เมื่อจะเขียนมันจะถูกทำให้เหลือเพียงแค่หนึ่งเรื่อง และหนึ่งเรื่องนั้นจะบังคับให้เราหาอะไรมาเขียนไปตามเส้นทางนั้นเอง

ขั้นตอนแรกๆ ของการเป็นนักเขียน พี่แหม่มจึงแนะนำให้บังคับตัวเองให้เขียนบันทึกทุกวัน เขียนให้ได้ 30 วันต่อเดือน และอย่าเขียนสั้นนัก เพราะถ้าสั้นเกินไป การเขียนจะไม่ทำงาน แต่หากบังคับตัวเองไม่ได้ ก็ไม่ควรเป็นนักเขียน เพราะนักเขียน แปลว่า ผู้ซึ่งทำงานเขียนอยู่เป็นประจำ


·       กลับไปอ่านสิ่งที่เขียนไว้ในบันทึก เพื่อค้นหาสิ่งที่เราชอบเล่าออกมา

ขั้นตอนต่อมา พี่แหม่มขอให้กลับไปอ่านสิ่งที่เขียนไว้ในบันทึก ตอนแรกๆ เราอาจไม่เคยเข้าใจชีวิต ไม่เคยรู้จักตัวตนของเรา แต่พอเราเขียนบันทึกครบ 30 วัน เราจะเริ่มพบสิ่งที่เราชอบเล่าออกมา อาจจะเป็นเรื่องความรัก เรื่องโอกาสที่สูญเสียไป เรื่องอนาคต หรือเรื่องของผู้คนที่พบเจอทุกวันแต่ไม่เคยพูดกันเลย จากนั้นก็เริ่มลงมือเขียน ซึ่งแบบฝึกหัดที่ดีของการลงมือเขียนก็คือการอ่าน โดยให้เลือกหนังสือที่ชอบที่สุดมาหนึ่งเล่ม พี่แหม่มแนะนำเป็นหนังสือวรรณกรรมคลาสสิก เพราะจะมีโครงสร้างของการเขียนที่ดี แล้วอ่านซ้ำหลายๆ รอบว่า เราชอบเพราะอะไร ประโยคไหนที่ติดอยู่ในใจเรา และหากเป็นไปได้อยากให้ตามอ่านเล่มอื่นๆ ของนักเขียนคนนั้นด้วย เพื่อให้เป็นนักอ่านที่อ่านพอสมควร ทั้งนี้ระยะแรกยังไม่ควรอ่านหนังสือหลายๆ แบบของหลายๆ นักเขียน เนื่องจากอาจทำให้งานเขียนออกมาเป็นหัวมงกุฎท้ายมังกร การเริ่มต้นอ่านจากนักเขียนคนเดียวจึงดีกว่า หลังจากนั้นเราก็จะเข้าใจโครงสร้างภาษา การใช้ภาษา สัดส่วนของเรื่อง และรายละเอียดต่างๆ มากขึ้นเอง อันเป็นประโยชน์ต่อการเขียน  

อย่างไรก็ตาม การอ่านหนังสือจากนักเขียนคนเดียว อาจส่งผลให้ติดภาษาหรือรูปแบบของนักเขียนคนนั้นมา พี่แหม่มบอกว่าก็ต้องปล่อยให้ติดไป เพราะคงมีบ้างเป็นธรรมดา เช่นเดียวกับพี่แหม่มที่ติดความรุ่มรวยของภาษาสวยๆ มีความงดงาม ที่หลุดหายไปสามสิบปีในช่วงของวรรณกรรมเพื่อชีวิต 


·       เอางานเขียนทั้งหมดมาวางเรียง แล้วเกลี่ยไปมาจนดีที่สุด

ขั้นตอนท้ายสุด หลังจากลงมือเขียนเสร็จแล้ว จะได้งานเขียนดราฟแรกออกมาเป็นคล้ายๆ ภาพสเก็ตช์ก่อน พี่

แหม่มเผยว่า ให้นำเอามาเกลี่ยหลายๆ ครั้ง มีไทม์ไลน์ถูกต้อง แต่ไม่จำเป็นต้องจัดเรียงตามลำดับ อาจเขียนย้อนกลับไปกลับมาได้ จะช่วยให้งานเขียนที่เดินเป็นเส้นตรงมีความพิเศษหรือน่าสนใจมากขึ้น ดังนั้นจากงานเขียนแรกๆ ที่เขียนเรื่อยเปื่อย ก็จะมีเส้นเรื่อง มีทิศทางที่ชัดเจน และมีรายละเอียดลึกลงไปจากเส้นระนาบ รวมถึงควรมีมายด์แม็ปเพื่อป้องกันไม่ให้เขียนหลงทาง งานเขียนก็จะออกมามีความสมบูรณ์ขึ้น

          ฉะนั้น สุดท้ายแล้ว สำหรับพี่แหม่ม การเขียนจึงไม่จำเป็นต้องมีพรวิเศษหรือเทพให้พรใดๆ มีแต่เพียงความดันทุรังเท่านั้น ที่จะช่วยให้คนอยากเขียนเป็นนักเขียนได้... 

          นับเป็นบทสรุปทิ้งท้ายการสนทนาที่คมคายจริงๆ ท่ามกลางคนฟังหนาแน่น และบรรยากาศรื่นรมย์ของห้องสมุดซอยพระนาง ซึ่งแม้จะเป็นกิจกรรม Library Alive: ห้องสมุดมีชีวิต ครั้งสุดท้ายที่พาคนเมืองไปสัมผัสห้องสมุดต่างๆ แต่ห้องสมุดแต่ละแห่งก็ไม่ได้หนีหายไปไหน ยังคงเปิดบริการและมีกิจกรรมส่งเสริมการอ่านให้ทุกคนร่วมสนุกอยู่เป็นประจำเช่นเดิม...        


 *** พิกัดห้องสมุดซอยพระนาง : ซอยพระนาง ถนนราชวิถี ใกล้อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โทรศัพท์ 0 2246 3517

วันทำการ : วันอังคาร-วันเสาร์ 08.30-19.30. / วันอาทิตย์ 09.00-17.00 น. และวันจันทร์หยุดทำการ

*** ข้อมูลห้องสมุดฯ อ้างอิงจากคุณศิราภรณ์ ภัฒน์จันทร์ บรรณารักษ์ชำนาญการ และหัวหน้าห้องสมุดซอยพระนาง 

URL อ้างอิง:

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้คุกกี้ (Cookie) เพื่อใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพเว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ นโยบายคุกกี้
ยอมรับ