Notifications

You are here

บทความ

วันหนังสือและลิขสิทธิ์โลก 23 เมษายน

22 เมษายน 2024 1025 อ่านข่าวนี้ 2 สัปดาห์ก่อน 4


เพราะเหตุใดจึงต้องเป็นวันที่ 23 เมษายน


เหตุผลที่ต้องเป็นวันที่ 23 เมษายน มาจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (UNESCO) ที่กำหนดให้วันนี้ของทุกปีเป็น “วันหนังสือและลิขสิทธิ์โลก” เพื่อรำลึกถึงวันลาจากไปของ 3 นักเขียนชื่อดังของโลก ได้แก่


  • วิลเลียม เชกสเปียร์ (William Shakespeare) กวี นักประพันธ์ และนักเขียนบทละครผู้ยิ่งใหญ่แห่งวงการวรรณกรรมอังกฤษ เจ้าของผลงานเลื่องชื่อ เช่น แม็กเบท, แฮมเลต และโรเมโอและจูเลียต, อินกา การ์ซิล
  • โซ เด ลา เวกา (Inca Garcilaso de la Vega) นักประวัติศาสตร์สเปนผู้ยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษที่ 16 ผู้เขียนประวัติศาสตร์ชาวอินเดียนแดงในอเมริกาใต้และการเดินทางของผู้พิชิตชาวสเปน
  • มิเกล เด เซร์บานเตส (Miguel de Cervantes) นักประพันธ์ นักเขียนบทละคร และกวีชาวสเปนผู้เขียนดอน กีโฮเต (Don Quixote) ผลงานชิ้นสำคัญของโลกวรรณกรรม ที่ล้วนเสียชีวิตในช่วง 23 เมษายน ค.ศ. 1616 หรือเวลาที่ใกล้เคียง


อย่างไรก็ตามแหล่งข้อมูลส่วนใหญ่ได้บันทึกว่ามิเกล เด เซร์บานเตส ลาจากโลกนี้ไปในวันที่ 22 เมษายน ค.ศ. 1616 รวมถึง Britannica สารานุกรมที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ซึ่งห่างกันเพียงแค่ 1 วัน โดยยังเป็นเวลาที่ใกล้เคียงกันกับข้อมูลประวัติผู้เขียนจากสำนักพิมพ์ Penguin Classics ที่ได้บันทึกว่าเป็นวันที่ 23 เมษายน


มากกว่านั้นยังมีอีกหนึ่งเรื่องราวน่ารู้จากสื่อข่าวออนไลน์ชื่อดัง Time of India ที่เกี่ยวข้องกับวันหนังสือและลิขสิทธิ์โลก โดยชวนย้อนกลับไปสู่เมืองคาตาโลเนีย ประเทศสเปน ซึ่งวันที่ 23 เมษายนเป็นวันที่มีชื่อดั้งเดิมว่า “La Diada de Sant Jordi” หรือวันนักบุญจอร์จ เป็นวันที่เกี่ยวข้องกับการแลกเปลี่ยนหนังสือและดอกกุหลาบซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความรักและความซาบซึ้งในงานวรรณกรรม ด้วยแรงบันดาลใจจากประเพณีนี้ประกอบกับวันเสียชีวิตของเหล่านักเขียนชื่อก้องโลก ยูเนสโกจึงเลือกวันดังกล่าวเป็นวันสำคัญเพื่อยกย่องและให้เกียรติหนังสือ เหล่านักเขียนที่ทำงานสร้างสรรค์ และเพื่อส่งเสริมการอ่าน ซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของทุกคน


การเฉลิมฉลองของเมืองรักการอ่านทั่วโลก


การเฉลิมฉลองวันหนังสือและลิขสิทธิ์โลกครั้งแรกเกิดขึ้นใน ค.ศ. 1996 หลังการลงฉันทามติในที่ประชุมยูเนสโก กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ใน ค.ศ. 1995 เพื่อให้ทั่วโลกตระหนักถึงความสำคัญของพลังหนังสือที่ทั้งให้ความรู้และเสริมสร้างจินตนาการผ่านตัวอักษรที่มีเสน่ห์และเอกลักษณ์เฉพาะ ยากจะหาสื่ออื่นเหมือน


นับแต่นั้นเป็นต้นมา ในแต่ละปีกว่า 100 ประเทศที่เห็นความสำคัญของแนวคิดนี้จึงได้จัดให้มีการเฉลิมฉลองอย่างต่อเนื่อง ในโอกาสเดียวกันยูเนสโกและองค์กรระหว่างประเทศที่เป็นตัวแทน 3 ภาคส่วนสำคัญของอุตสาหกรรมหนังสือ ได้แก่ ผู้จัดพิมพ์ ผู้จำหน่ายหนังสือ และห้องสมุด จะเลือกเมืองหลวงแห่งหนังสือโลกขึ้นมา 1 เมือง เพื่อกระตุ้นให้เกิดความกระตือรือร้นและรักษาแรงผลักดันในการเฉลิมฉลองผ่านความคิดริเริ่มของตนเป็นเวลา 1 ปีเต็ม


สำหรับ ค.ศ. 2024 เมืองสตราสบูร์ก (Strasbourg) ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งมีประวัติศาสตร์และมรดกทางวัฒนธรรมมายาวนาน ได้รับเลือกให้เป็นเมืองหลวงแห่งหนังสือโลก ซึ่งเป็นเมืองแรกของประเทศ โดยเริ่มนับตั้งแต่ 23 เมษายน ค.ศ. 2024 ถึง 22 เมษายน ค.ศ. 2025 หลังได้รับการยอมรับว่ามีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินกิจกรรมเพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านอย่างแท้จริง และใช้พลังของหนังสือเพื่อส่งเสริมสังคมอย่างครอบคลุม สงบสุข และยั่งยืน อธิบายเพิ่มเติมได้ว่าสามารถเข้าถึงผู้คนในชุมชนทุกเพศ ทุกช่วงอายุ ไปจนถึงศูนย์ผู้ลี้ภัย ทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของผู้คนได้ด้วย เช่น การเลือกผสมผสานการนำเสนอผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้อ่านที่เป็นเยาวชน


ผู้ที่เกี่ยวข้องในการผลักดันเมืองนี้กล่าวด้วยว่าสตราสบูร์กมีความสัมพันธ์กับหนังสือ การโต้วาที และการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นมานานหลายศตวรรษ เป็นหนึ่งในเมืองแห่งนักอ่านโลก แม้การทำลายห้องสมุดสาธารณะระหว่างเหตุระเบิดในสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ทิ้งบาดแผลลึกไว้ในใจของชุมชนท้องถิ่นก็ตาม ขณะเดียวกันจากอดีตจนถึงปัจจุบันมีสิ่งหนึ่งที่ชาวสตราสบูร์กภูมิใจอย่างมาก สิ่งนั้นคือเครือข่ายที่ให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมการอ่านที่ร่วมมือร่วมใจและทำงานร่วมกัน


วันที่สร้างความตระหนักถึงการปกป้องลิขสิทธิ์


Time of India ยังเน้นย้ำด้วยว่าหนึ่งในวัตถุประสงค์หลักของวันหนังสือและลิขสิทธิ์โลกคือเพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการปกป้องลิขสิทธิ์และส่งเสริมสิทธิของผู้เขียนและผู้จัดพิมพ์ ในมุมกรอบทางกฎหมายที่ให้สิทธิ์แก่ผู้แต่งและสร้างสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวในผลงานต้นฉบับของตน เช่น หนังสือ ดนตรี ศิลปะ และงานสร้างสรรค์รูปแบบอื่น ๆ 


สำหรับข้อมูลน่ารู้เกี่ยวกับลิขสิทธิ์ของผู้เขียนและสำนักพิมพ์ เช่น แม้ลิขสิทธิ์จะเกิดขึ้นทันทีเมื่อเริ่มสร้างสรรค์ผลงาน และแม้ยังไม่ได้เผยแพร่ แต่การลงทะเบียนหรือจดแจ้งกับหน่วยงานด้านลิขสิทธิ์จะทำให้ผู้เขียนมั่นใจถึงการได้รับสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ขณะเดียวกันผู้เขียนเองมีสิทธิ์ในการให้สำนักพิมพ์เช่าลิขสิทธิ์หรือขายสิทธิ์ขาดทั้งหมด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการทำสัญญาของทั้ง 2 ฝ่ายตามตกลง ตามข้อมูลจากบทความ “ลิขสิทธิ์หนังสือ เบื้องต้นที่นักเขียนควรรู้” โดย ATPSERVE หนึ่งในผู้ให้บริการด้านการจัดการทรัพย์สินทางปัญญา พร้อมยกตัวอย่างกรณีเจ้าของลิขสิทธิ์การ์ตูนญี่ปุ่นเดทโน้ต (Death Note) ในประเทศไทย บริษัท เนชั่น เอ็ดดูเทนเมนท์ จำกัด ที่ได้ออกจดหมายเตือนผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ที่ก่อให้เกิดปัญหาการสูญเสียรายได้อย่างที่ควรจะเป็น นับเป็นความรู้พื้นฐานในอุตสาหกรรมหนังสือที่ทั้งผู้เขียน สำนักพิมพ์ ผู้ทำงานสร้างสรรค์ที่เกี่ยวข้อง ไปจนถึงผู้อ่านเองควรรู้หรือศึกษาไว้เพื่อความเข้าใจและพัฒนาอุตสาหกรรมหนังสือร่วมกัน


ชวนอ่านและเฉลิมฉลองตามความสนใจ


ในโอกาสอีกปีแห่งการสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของ “วันหนังสือและลิขสิทธิ์โลก” ใน ค.ศ. 2024 The Guardian สื่อที่นำเสนอข่าวสารในสหราชอาณาจักร ได้นำเสนอเชิงตั้งคำถามถึงหนึ่งผลงานวิจัยที่พบว่า 1 ใน 4 ของเด็กไม่ได้อ่านหนังสือเพื่อความบันเทิงของตน แต่ถูกตัดสินจากผู้ใหญ่ นำไปสู่ความท้อแท้และหยุดอ่านเพื่อความเพลิดเพลิน ต่อยอดความคิดสร้างสรรค์


ตามข้อมูลการสำรวจเด็กอายุ 7-14 ปีในสหราชอาณาจักรจำนวน 1,000 คน ในเดือนมกราคม ค.ศ. 2024 ซึ่งดำเนินการโดย Beano Brain ที่ปรึกษาด้านความต้องการเชิงลึกของเด็กที่เชื่อมโยงกับแบรนด์ ยังพบด้วยว่านอกจากการถูกตัดสินจากผู้ใหญ่แล้ว เด็กเพียง 25% ระบุว่าพ่อแม่ของพวกเขาผ่อนคลายด้วยการอ่านที่บ้าน ขณะที่ส่วนใหญ่กล่าวว่าพ่อแม่เลือกดูทีวีและเลื่อนดูโทรศัพท์  ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจัยเหล่านี้มีส่วนทำให้ระดับการรู้หนังสือต่ำเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเด็กและผู้ใหญ่วัยหนุ่มสาวที่กำลังประสบปัญหาความยากจน ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานหรือโอกาสที่ดีในอนาคตหรือในวัยผู้ใหญ่ต่อไป


นำไปสู่คำถามว่าจะทำอย่างไรให้เยาวชนไปจนถึงผู้ใหญ่กลับมาอ่านกันมากขึ้น หนึ่งในนั้นได้แก่แนวคิดแคมเปญ “Read Your Way” ของ World Book Day’s (WBD) องค์กรไม่แสวงหากำไรที่มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนให้เด็ก ๆ สร้างนิสัยการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) ด้วยการอ่านในสิ่งที่สนใจหรือเพลิดเพลินใจ สอดคล้องไปกับกิจกรรมเฉลิมฉลองที่จัดโดยร้านหนังสือ สำนักพิมพ์ ห้องสมุด โรงเรียน รวมถึงภาครัฐ ภาคธุรกิจ ไปจนถึงองค์กรระหว่างประเทศ ที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจก้าวไปสู่เป้าหมายเดียวกัน


#WorldBookandCopyrightDay #WorldBookDay #WorldBookCapital #ReadYourWay #Reading #Copyright #วันหนังสือและลิขสิทธิ์โลก #วันหนังสือและลิขสิทธิ์สากล #เมืองหลวงหนังสือโลก #หนังสือ #การอ่าน #ลิขสิทธิ์



• ข้อมูลอ้างอิง : www.unesco.org, eurocities.eu, www.britannica.com, www.penguin.co.uk, timesofindia.indiatimes.com, www.theguardian.com, www.thebookseller.com, www.prd.go.th และ www.atpserve.com



URL อ้างอิง:

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้คุกกี้ (Cookie) เพื่อใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพเว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ นโยบายคุกกี้
ยอมรับ