Notifications

You are here

บทความ

7 รูปแบบพื้นที่ส่งเสริมการเรียนรู้ที่น่าสนใจในยุคน...

09 กรกฎาคม 2024 5979 อ่านข่าวนี้ 1 เดือนก่อน 7

#2024LearningTrendReviewSeriesbyOKMD ได้รวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับเทรนด์การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในปี 2024 มาเล่าสู่กันฟัง

วันนี้เสนอตอน 7 รูปแบบพื้นที่ส่งเสริมการเรียนรู้ที่น่าสนใจในยุคนี้

พื้นที่การเรียนรู้เป็นอีกส่วนที่สำคัญที่ช่วยส่งเสริมการสร้างระบบนิเวศแห่งการเรียนรู้ เอื้อต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้กับคนทุกกลุ่ม ในปัจจุบันจึงมีพื้นที่เรียนรู้ในรูปแบบต่างๆ ที่น่าสนใจให้ได้เข้าไปเรียนรู้กัน ทั้งที่มีอยู่แล้วและที่เกิดขึ้นใหม่ตามบริบทความสนใจของคนในยุคนี้  บทความนี้ขอชวนคุณมาดูรูปแบบพื้นที่ที่ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ที่น่าสนใจในยุคนี้กัน 



01  Creative Space

ในยุคนี้ การเรียนรู้ในห้องเรียนอาจไม่เพียงพอ พื้นที่ส่งเสริมการเรียนรู้และความคิดสร้างสรรค์ในรูปแบบที่แตกต่างกันไปจึงมีบทบาทในการสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ใหม่ๆ ตามความสนใจของคนแต่ละท้องที่ เป็นแหล่งรวมความคิดสร้างสรรค์ในรูปแบบต่างๆ ให้ได้เข้าไปเติมความรู้แลกเปลี่ยนไอเดีย ไม่ว่าจะเป็น Art Space คาเฟ่ในรูปแบบชุมชนนักสร้างสรรค์ พื้นที่แสดงนิทรรศการ/การแสดงสด โรงละคร พื้นที่ทำเวิร์กช็อป งานคราฟต์ ร้านอาหาร หรือพื้นที่ทำงานที่ร่วมกันอย่าง Co-working Space ที่มีการแลกเลี่ยนเรียนรู้ในสังคมที่มีความสนใจร่วมกัน มีการจัด Workshop ที่คนในชุมชนสนใจเพื่อช่วยพัฒนาทักษะ เกิดไอเดียใหม่ๆ รวมถึงยังเป็นเสมือนเวทีที่เปิดโอกาสให้ศิลปิน ผู้สนใจ สามารถถ่ายทอดความคิดสร้างสรรค์ที่ตนถนัดในรูปแบบต่างๆ ได้  นอกจากนี้ ยังมี Art Space ที่เกิดขึ้นในรูปแบบต่างๆ ทั้งในแง่พื้นที่ที่อนุรักษ์ศิลปะวัฒนธรรมเดิมไว้หรือเป็นศูนย์รวมให้เกิดชุมชนศิลปิน/นักสร้างสรรค์ขึ้น โดย Creative Space มักมีองค์ประกอบเชิงพื้นที่ได้แก่ ความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนพื้นที่ในการทำกิจกรรมต่างๆ มีบรรยากาศที่ช่วยกระตุ้นและส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์โดยใช้การออกแบบเข้ามาช่วย มีการสนับสนุนในชุมชนจากผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงเป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสได้ทดลองอย่างอิสระด้วย

ตัวอย่าง Creative Space ในหลากหลายพื้นที่ เช่น

HOP- Hub of Photography, Bangkok ชุมชนด้านศิลปะภาพถ่าย เป็นพื้นที่จัดแสดงศิลปะภาพถ่าย แลกเปลี่ยนความคิดระหว่างช่างภาพด้วยกันหรือผู้ที่สนใจ ช่วยสนับสนุนศักยภาพช่างภาพไทยไปเวทีโลก

STPLN (The City Creative Space), Sweden พื้นที่ Creative Hub ที่ใช้เป็น co-working space จัดกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ในสาขาต่างๆ และกิจกรรม workshop




02  Maker Space

พื้นที่เรียนรู้ผ่านการลงมือทำ หรือ Maker Space เป็นพื้นที่รวมความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรมใหม่ๆ รวมถึงการร่วมมือกัน มีจุดประสงค์ที่สำคัญคือ การส่งเสริมบ่มเพาะความคิดสร้างสรรค์ ความเป็นนักคิด นักนวัตกร ซึ่งการลงมือทำจะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้อย่างไม่มีวันจบ และทำให้เกิดประสบการณ์ใหม่ พื้นที่เรียนรู้ที่จะช่วยส่งเสริมเด็กในการทดลอง แก้ปัญหา เปิดโอกาสให้ได้ผิดพลาด มักมีเครื่องมือและอุปกรณ์สนับสนุนในการช่วยผลิตชิ้นงานต่างๆ เช่น 3d Printing, จักรเย็บผ้า, อุปกรณ์การประดิษฐ์ต่างๆ ซึ่งเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้แนวคิดเรื่อง STEM (Science, Technology, Engineering, and Mathematics) และ STEAM Science, Technology, Engineering, Arts, and Mathematics)  โดยจะได้ทดลองและเรียนรู้จากการทำเป็นโครงการหรือโครงงานต่างๆ (Project-bases Learning) หรือการริเริ่มสร้างสรรค์งานที่สนใจด้วยตนเอง ซึ่งพื้นที่นี้ยังเป็นตัวกลางในการพบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคนอื่น ต่อยอดไอเดียในชิ้นงานของตนเองจากการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้อื่นอีกด้วย ทั่วโลกก็มี Maker Space อยู่มากมายโดยเฉพาะในสถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัยต่างๆ รวมทั้งพื้นที่ในชุมชนที่เปิดโอกาสให้คนได้มาทดลองประดิษฐ์สิ่งต่างๆ จากความคิดของตนเอง หรือ ประดิษฐ์ชิ้นงานในการเรียน เป็นต้น ซึ่ง Maker Space ทั่วโลกจะแตกต่างกันไปตามบริบทความสนใจในพื้นที่ เช่น Maker Space ที่ส่งเสริมนักประดิษฐ์และผู้ประกอบการ บางประเทศจะนิยม Maker Space ในห้องสมุดที่มีแหล่งข้อมูลและได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในชุมชน หรืออย่างประเทศเยอรมันที่มีความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมมักมี Maker Space ในรูปแบบที่ผสมผสานงานช่างมือและเทคโนโลยีสมัยใหม่ นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่ยังต่อยอดเป็นพื้นที่สร้างสรรค์อื่นๆ เช่น Library Makerspace, FabLab ซึ่งคือ Maker Space ในรูปแบบพื้นที่สำหรับเล่น สร้างสรรค์เรียนรู้ ประดิษฐ์ เพื่อเรียนรู้และสร้างสรรค์นวัตกรรม โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ซึ่ง FabLab มักจะจัดเตรียมสิ่งแวดล้อม วัสดุ และ เทคโนโลยี เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงเพื่อทดลองสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ได้



03 Community Library

ห้องสมุดในรูปแบบพื้นที่เรียนรู้-อ่านหนังสือในชุมชน หรือพื้นที่เรียนรู้ที่คนในสังคมเข้ามามีส่วนร่วมด้วย ห้องสมุดหลายแห่งทั่วโลกมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบเพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน สร้างการเชื่อมโยงกิจกรรมกับชุมชนมากขึ้น บางแห่งเป็นห้องสมุดขนาดเล็กในชุมชน เช่น บุงโกะหรือบ้านหนังสือที่ประเทศญี่ปุ่น, ห้องสมุดดรุณบรรณาลัย กรุงเทพฯ รวมถึงเกิดพื้นที่ทดลองทางการเรียนรู้ของห้องสมุดหรือพื้นที่การอ่าน ในรูปแบบใหม่ๆ ที่ให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วม เช่น โครงการพื้นที่นั่งอ่านหนังสือ ประเทศเกาหลีใต้ ‘Seoul Outdoor Library’ ที่มีแนวคิดจัดพื้นที่เรียนรู้ในที่สาธารณะช่วงสุดสัปดาห์ระหว่างเดือน เม.ย.-ต.ค. 2567 นี้ เพื่อส่งเสริมประชาชนให้เรียนรู้ผ่านการอ่าน รวมทั้งยังมีกิจกรรมทางวัฒนธรรมต่างๆ และสนามเด็กเล่น เป็นพื้นที่อยู่ร่วมกันกับธรรมขาติภายนอก โดยมีการจัดในพื้นที่สาธารณะไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ริมน้ำที่คลองชองกเยชอน (Cheonggyecheon Stream) ลานโซลพลาซ่า (Seoul Plaza)  ควังฮวามุนพลาซ่า (Seoul Outdoor Library in Gwanghwamun) ด้วย


Photo: Seoul Outdoor Library


04 Sensory Space

อย่างที่รู้กันว่า ระบบประสาทสัมผัสแต่ละด้านนั้นส่งผลต่อการเชื่อมโยงการทำงานของร่างกาย จิตใจ อารมณ์และพฤติกรรมในด้านต่างๆ ของมนุษย์  การฝึกและพัฒนาด้านประสาทสัมผัสตั้งแต่เด็กจะส่งผลต่อการเรียนรู้และทำงานต่อไปในอนาคต  ปัจจุบันจึงมีการเล่นแบบ Sensory Play ผ่านกิจกรรมต่างๆ รวมถึงพื้นที่ที่ส่งเสริมประสาทสัมผัสต่างๆ ทั้งภายนอกและภายในอาคารสำหรับคนทุกวัย โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มเด็กปฐมวัย ซึ่งพื้นที่เหล่านี้จะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาการผ่านประสาทสัมผัสด้านต่างๆ  นอกจากจะช่วยเรื่องพัฒนาการแล้ว ปัจจุบันพื้นที่รูปแบบ Sensory Space ยังมีบทบาทในโรงเรียนเพื่อช่วยปรับนักเรียนจากภาวะความเครียดความกังวลจากการเรียนในห้องเรียนรวมถึงปรับพฤติกรรมและพัฒนาการด้านประสาทสัมผัสต่างๆ ให้สามารถเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้นด้วย โดยมีการจัดอุปกรณ์และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เพื่อให้นักเรียนได้พัฒนาทักษะทางประสาทสัมผัสรอบด้าน เช่น การเชื่อมโยงมือ-ตา, motor skills, การรับรู้เรื่องสี, การสื่อสาร, ทักษะด้านประสาทสัมผัสต่างๆ โดยมีพื้นที่ส่งเสริมพัฒนาการ อาทิ Playground, Multisensory space ในโรงเรียน หรือแม้แต่ในห้องสมุดบางแห่งก็มีพื้นที่ Sensory Room ให้คนได้ผ่อนคลาย บำบัด และปรับปรุงพัฒนาการด้านต่างๆ อย่างเหมาะสม  นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ Sensory Space ที่จัดทำขึ้นเพื่อปรับใช้ในการบำบัด อย่างเช่น ห้อง Snoezelen ตามคลินิคหรือโรงพยาบาลเพื่อส่งเสริมและบำบัดด้านประสาทสัมผัสหลากหลายด้วย 



05  Playground

สนามเด็กเล่นไม่ใช่แค่พื้นที่สำหรับเล่นเพื่อความสนุกสนานเท่านั้น แต่เป็นพื้นที่เพื่อส่งเสริมพัฒนาการตามวัย ได้เรียนรู้หลายๆ ทักษะ ทั้งการอยู่ร่วมกับผู้อื่น การตัดสินใจ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า หารสื่อสาร ฯลฯ โดยในยุคปัจจุบันได้มีรูปแบบสนามเด็กเล่นในหลายรูปแบบที่ไม่ใช่แค่พื้นที่สำหรับเด็กเท่านั้น แต่ยังมีแนวทางการออกแบบและพัฒนาพื้นที่ให้เป็นพื้นที่เล่น-เรียนรู้สำหรับทุกกลุ่ม (Inclusive) หรือสำหรับคนหลากหลายวัย (Multi-Generations) เพื่อให้ได้ใช้เวลาร่วมกันในกิจกรรมหลายรูปแบบ อาทิ การพักผ่อน การเพิ่มความแข็งแรงของร่างกาย และมีการจัดอุปกรณ์ที่เหมาะสม เช่น กำแพงปีนผา เพื่อกระตุ้นและใช้ได้กับคนทุกกลุ่ม เป็นต้น  สนามเด็กเล่นในยุคนี้ยังมีการนำเอาเทคโนโลยีมาประกอบการเรียนรู้ เช่น การใช้เทคโนโลยี Augmented Reality (AR) เข้ามาเพิ่มความสนุก รวมถึงการออกแบบที่ส่งเสริมแนวคิดเรื่องความยั่งยืนให้กับโลก ไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ฐานกิจกรรมการเรียนรู้ในพื้นที่ที่เอื้อให้เกิดการสอนและเรียนรู้เรื่องรักษ์โลกอย่างเป็นธรรมชาติ นอกจากนั้นมีการใช้ Sensory Play เข้ามาเพื่อเพิ่มประสบการณ์การเรียนรู้และพัฒนาการด้านต่างๆ รวมถึงการบำบัดทั้งเด็กและผู้สูงวัยด้วย เช่น เสียงดนตรี การใช้สีและวัตถุที่มีรูปทรงแปลกใหม่ พื้นผิวที่มีสัมผัสหลากหลายแบบ 




06 Community-based Learning Space

พื้นที่เรียนรู้ในชุมชนในปี 2024 นี้ได้มีบทบาทมากขึ้นและยังเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตรวมถึงส่งเสริมเรื่องความยั่งยืนในชุมชน ทั้งยังสร้างการมีส่วนร่วมในชุมชน ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้นอกห้องเรียนอย่างเป็นธรรมชาติกับคนทุกช่วงวัย สอดคล้องกับแนวทาง SDG ของ UNESCO ที่ต้องการส่งเสริมพื้นที่เรียนรู้ในชุมชนรวมถึงเครือข่ายในชุมชนเพื่อขยายโอกาสเข้าถึงทางการศึกษาและสร้างกิจกรรมเรียนรู้สำหรับคนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ขาดโอกาสในการศึกษา  ตัวอย่างพื้นที่เรียนรู้ในชุมชน เช่น พื้นที่เรียนรู้ตามธรรมชาติ, พื้นที่เรียนรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศน์ (Ecological Learning Space), พื้นที่เรียนรู้ในชุมชนผ่านวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่น  บางแห่งมีการจัดแหล่งเรียนรู้และกิจกรรมขึ้นในชุมชน เช่น ม.ขอนแก่นจัดตั้งพื้นที่เรียนรู้เป็นสวนดอกไม้ให้นักศึกษาได้ทดลองค้นคว้าและคนในชุมชนสามารถเข้ามาเรียนรู้ได้ด้วย  นอกจากนี้ยังมีแหล่งเรียนรู้รูปแบบต่างๆ ในชุมชน เช่น พิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ วัด โบสถ์ สวนสาธารณะ ที่บอกเล่าเรื่องราวความรู้ในท้องถิ่น รวมถึงการเกิดขึ้นของ Local Labs ต่างๆ ทั่วโลก ที่มีพื้นที่เรียนรู้ศึกษาภูมิปัญญาท้องถิ่นของแต่ละพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบอาหาร วัสดุพื้นถิ่น งานฝีมือ เกิดเป็นกิจกรรมเรียนรู้ในชุมชนตามอัตลักษณ์ของท้องถิ่นนั้นๆ และต่อยอดเป็นธุรกิจในชุมชนอีกด้วย



07 Innovation Labs

พื้นที่เรียนรู้ยุคใหม่ที่ช่วยส่งเสริมหลักคิดของ STEM (Science, Technology, Engineering, and Mathematics), Coding Skills รวมถึงการเรียนรู้และพัฒนาต่อยอดในด้านเทคโนโลยี โดย Innovation Labs ที่เกิดขึ้นทั่วโลกมักจะมีประเด็นสำคัญในเรื่องการส่งเสริมการริเริ่มสร้างสรรค์เพื่อให้เกิดไอเดียใหม่ๆ ขึ้น โดยมีการจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะกับการคิดสร้างสรรค์และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น มักจะมีการร่วมมือแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันระหว่างผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา เช่น ธุรกิจ ออกแบบ เทคโนโลยี ฯลฯ เพื่อแก้โจทย์เกิดผลลัพธ์ใหม่ๆ มีการทดลองและทำต้นแบบซึ่งมีความท้าทายและสามารถล้มเหลวผิดพลาดได้ มีการทดลองความเสี่ยงต่างๆ เพื่อให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ  ปัจจุบันมี Innovation Labs เกิดขึ้นหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น Robotics Labs, AI Experience Space, STEAM Labs, Virtual and Augmented Reality Integration Space ที่เป็นพื้นที่เรียนรู้ด้านเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์  ตัวอย่าง Innovation Labs เช่น Stanford Robotics Center ภายใต้ Stanford University ประเทศสหรัฐอเมริกานั้นก็มีการเปิด Labs พื้นที่ค้นคว้าศึกษา ทดลองในด้าน Robotics ถึง 13 Labs ด้วยกันและมีการต่อยอดพัฒนานวัตกรรมในโครงการต่างๆ ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องด้วย อาทิ Robotic Exploration Lab, Autonomous Systems Lab, Stanford Vision and Learning Lab (SVL) เป็นต้น  นอกจากนั้น ภาคเอกชนในปัจจุบันก็ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการเรียนรู้ทางด้านเทคโนโลยี ตัวอย่างเช่น Creative AI Club โดย CPAll ประเทศไทย ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อตอบโจทย์พื้นที่เรียนรู้ใหม่ด้าน AI และสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ รวมถึงบ่มเพาะทักษะด้าน AI ให้กับเยาวชนผ่านค่ายด้วย



ขอบคุณข้อมูล

Seoul Outdoor Library. From https://english.seoul.go.kr/seoul-outdoor-library/

Transforming Education Spaces: Future Trends in School Refurbishment.

From https://www.rfm-group.com/transforming-education-spaces-future-trends-in-school-refurbishment/

Faculty of Agriculture, KKU, creates a new learning space of flowers and tourism. From https://eng.kku.ac.th/8393

Public library trends and innovations to watch for in 2024.

From https://blog.pressreader.com/libraries-institutions/public-library-trends-and-innovations-to-watch-for-in-2024

Prediction: All schools will embrace sensory spaces. From https://www.eschoolnews.com/sel/2024/01/09/education-will-embrace-sensory-spaces/

What is a sensory space? From https://sensoryspaces.com.au/what-is-a-sensory-space/

Top 10 Playground Design Trends 2024.

From https://www.parknplaydesign.com/post/top-playground-design-trends-in-2024

Stanford Robotics Center. From https://robotics.sites.stanford.edu/center-mission/labs

Creative AI CLUB. From https://caicamp.cpall.co.th/

#2024LearningTrendReviewbyOKMD #LifelongLearning  #LearningTrend
-----------------------------------------------------------------------------------------------------

อ่าน #2024LearningTrendReviewbyOKMD ตอนอื่นๆ 

ตอน 10 เทรนด์การเรียนรู้ที่น่าสนใจในยุคนี้


ตอน ส่องพฤติกรรมการเรียนรู้ของ 5 เจเนอเรชัน



URL อ้างอิง:

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้คุกกี้ (Cookie) เพื่อใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพเว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ นโยบายคุกกี้
ยอมรับ