นครพนม

“พหุ”นคร : ชาติพันธุ์ เชื้อชาติ ความนคร

08 พฤศจิกายน 2024
|
70 อ่านข่าวนี้
|
0




   

“พหุ”นคร

ชาติพันธุ์ เชื้อชาติ ความนคร


                  ราทุกคนล้วนมีที่มามีรากเหง้าที่สืบทอดส่งต่อมาจากบรรพบุรุษที่ๆเราอยู่ ณ ปัจจุบันนี้อาจจะไม่ใช่ที่ๆบรรพบุรุษของเราเคยอยู่เช่นเดียวกับนครพนมจังหวัดเล็กๆที่ติดริมแม่น้ำโขงแม่น้ำสายใหญ่ที่กั้นกลางระหว่างประเทศไทยและสปป.ลาว จังหวัดที่อยู่ในดินแดนที่ราบสูง ในอดีตนครพนมเป็นศูนย์กลางของ อาณาจักรศรีโคตรบูร ที่รุ่งเรือง เดิมทีตั้งอยู่ทางฝั่งซ้ายของลำน้ำโขง หรือฝั่งแขวงคำม่วน (เมืองท่าแขก) สปป.ลาวในปัจจุบัน และบริเวณทางใต้ปากเซบั้งไฟ ตรงข้ามกับอำเภอพระธาตุพนม การเคลื่อนย้ายของเมืองและการเลื่อนไหลของผู้คนนี้ จึงทำให้นครพนมมีความหลากหลายทั้งทางชาติพันธุ์ และเชื้อชาติ

                 นครพนมในปัจจุบันมี 9 ชาติพันธุ์และ 2 เชื้อชาติ แต่ก่อนจะมาเป็น “ความนคร” อย่างในปัจจุบันนี้ ต้องท้าวความย้อนหลังกลับไปในอดีตกันสักหน่อย เพื่อให้เห็นที่มาที่ไปของเมืองนครพนมได้อย่างชัดเจนมากขึ้น ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 12 อาณาจักศรีโคตรบูร หรือ นครพนม ในปัจจุบัน เป็นอาณาจักรอิสระไม่ขึ้นกับใคร จนกระทั่งราวพุทธศตวรรษที่ 16 ได้เสื่อมอำนาจลง และตกอยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรขอม ต่อมาราวพุทธศตวรรษที่ 18 ชื่อ ศรีโคตรบูร ก็ได้กลายเป็นเมืองในของ อาณาจักรล้านช้าง ซึ่งมีฐานะเป็นเมืองลูกหลวง พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต ล้านช้าง ทรงสร้างเมืองที่ปากห้วยหินบูร (ปากห้วยบรรจบลำน้ำโขงฝั่งซ้าย ตรงข้ามอำเภอท่าอุเทน เหนือเมืองนครพนม) และได้สืบทอดราชสมบัติต่ออีกหลายพระองค์

                 และตามตำนานพระธาตุพนม(พิสดาร) ของพระธรรมราชานุวัตรอดีตเจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนม ได้เรียบเรียงเอาไว้ในตอนหนึ่งซึ่งมีใจความสำคัญว่า สมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาโปรดสัตว์ที่แคว้นศรีโคตรบูร มีพุทธทำนายว่า เมื่อพระองค์ปรินิพพานไปแล้ว เมืองศรีโคตรบูรณ์จะย้ายไปตั้งที่ ป่าไม้รวก ห้วยศรีมัง ซึ่งอยู่ทางฝั่งซ้ายของลำแม่น้ำโขง ซึ่งก็คือเมืองท่าแขก หรือแขวงคำม่วน สปป.ลาวในปัจจุบัน พระนครานุรักษ์ ผู้ครองเมืองศรีโคตรบูรในขณะนั้นเห็นว่า เมืองไม่ได้ตั้งอยู่ที่ปากห้วยแล้ว จึงได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น เมืองมรุกขนคร และด้วยการย้ายถิ่นฐานและการเคลื่อนย้ายของผู้คนนี้ ทำให้จังหวัดนครพนมมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2329 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเมืองใหม่เป็น เมืองนครพนม และขึ้นตรงต่อกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งชื่อ เมืองนครพนม นี้สันนิษฐานได้ว่า เดิมเป็นเมืองลูกหลวงมาก่อน และเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ จึงให้ใช้คำว่า "นคร" หรืออีกนัยหนึ่งคำว่า “นคร" อาจต้องการรักษาชื่อเมืองเดิมไว้คือ เมืองนครบุรีราชธานี ส่วนคำว่า พนม ก็เพราะเป็นจังหวัดที่มีองค์พระธาตุพนมประดิษฐานอยู่ และเดิมมีอาณาเขตที่ทอดไกลไปถึงดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง คือบริเวณเมืองท่าแขก หรือแขวงคำม่วน สปป.ลาว ซึ่งมีภูเขาสลับซับซ้อนจำนวนมากไปจนถึงดินแดนของประเทศเวียดนาม จึงใช้คำว่า พนม ซึ่งแปลว่า ภูเขา นครพนมจึงมีอีกความหมายคือ "เมืองแห่งภูเขา" หรือ "นครแห่งภูเขา" นั่นเอง



       

                          จากข้างต้นจะเห็นได้ว่า คำว่า "นคร" นี้ เป็นคำที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ และเป็นคำที่มีความหมายของรากเหง้าต้นกำเนิดของการเกิดเมืองนครพนม และส่งผลให้คนที่เกิดในจังหวัดนครพนมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มักจะเรียกตัวเองว่า “คนนคร” หรือเวลาใครที่อยู่นอกตัวเมืองจะเดินทางเข้าตัวเมืองนครพนม เวลาใครถามไถ่ก็มักจะตะโกนบอกกันว่า “ไปนคร” ซึ่งถ้าพูดอยู่ในแถบภาคอีสานนี้ ส่วนใหญ่จะเข้าใจความหมายกันได้ไม่ยาก แต่หากไปพูดประโยคเดียวกันนี้ในภาคอื่น ๆ เช่น ภาคกลาง ภาคเหนือ หรือภาคใต้ ก็อาจจะถูกคิดได้ว่า คนนคร ในที่นี้หมายถึง “คนจังหวัดนครศรีธรรมราช” ก็เป็นได้ ซึ่งน่าแปลกที่เรื่องราวเล็ก ๆ แต่แสนลึบลับนี้ รู้กันเฉพาะคนในท้องถิ่น เช่นเดียวกับ จังหวัดสกลนคร ซึ่งมีพื้นที่เชื่อมต่อติดกันกับ จังหวัดนครพนม นี้ ก็เรียกแทนตัวเองว่า “คนสกล” เช่นเดียวกัน โดยอาจจะเป็นสองจังหวัดในทั้งประเทศไทย ที่มีตัดคำต่อท้ายออกให้เหลือเพียงการออกเสียง 2 คำแรก หรืออาจจะเป็นเพราะชื่อจังหวัดออกเสียง 4 พยางค์มากกว่าอีกหลาย ๆ จังหวัดที่มักจะออกเสียงแค่ 2 พยางค์ เช่น เชียงใหม่ ลำพูน สตูล พังงา ฯลฯ ซึ่งที่กล่าวไปนี้ก็ยังไม่พบหลักฐานใด ๆ ที่เป็นลายลักษณ์อักษร หรือปรากฎงานวิจัยที่แน่ชัด นอกจากหลักฐานเชิงประจักษ์จากคนในท้องถิ่นเอง ซึ่งจะว่าไปแล้วก็เป็นเสน่ห์เฉพาะตัวอีกแบบ



                ปัจจุบัน นครพนมมี 9 ชาติพันธุ์พื้นเมือง และ 2 เชื้อชาติ ที่อยู่ร่วมกันได้อย่างสมานฉันท์ ประกอบด้วยชาติพันธุ์ ผู้ไทย, ไทยแสก, ไทยข่า, ไทยญ้อ, ไทยกะเลิง, ไทยอีสาน, ไทยโส้, ไทยกวน และไทยตาด รวมไปถึง ชาวไทยเชื้อสายจีน และ ชาวไทยเชื้อสายเวียดนาม ซึ่งทั้ง 9 ชาติพันธุ์และ 2 เชื้อชาตินี้ ต่างมีศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี ภาษา และการแต่งกายดั้งเดิมที่เป็นเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของตนเอง และต่างรักและหวงแหนในสิ่งที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษของตนอย่างเหนียวแน่น และยังคงรักษาและอนุรักษ์เอาไว้เป็นอย่างดี นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แม้จะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบบางอย่างไปตามยุคสมัยบ้าง หากแต่รากดั้งเดิมก็ยังคงดำรงไว้ และนอกจากแต่ละชาติพันธุ์จะอยู่กันเป็นชุมชนแล้ว ในปัจจุบัน ก็มีการแทรกตัวในชุมชนชาติพันธุ์อื่น ๆ ด้วย โดย ชาติพันธุ์ผู้ไทย เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดรองลงมาจากกลุ่มไทยลาว ส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีแม่น้ำโขงแยกกลุ่มนี้ออกจากภูไทยในภาคเหนือของลาว และญวน ซึ่งกลุ่มภูไทยกลุ่มใหญ่ที่สุดจะอยู่แถบลุ่มน้ำโขง และแถบเทือกเขาภูพาน เช่น จังหวัดนครพนม จังหวัดสกลนคร จังหวัดกาฬสินธุ์ ปัจจุบันชาติพันธุ์ผู้ไทยส่วนใหญ่จะอยู่ที่อำเภอเรณูนคร ส่วน ชาติพันธุ์ไทยแสก จากหน้าประวัติศาสตร์ ชาวแสกมีภูมิลำเนาอยู่ที่เมืองรอง ที่ขึ้นกับกรุงเว้ทางตอนกลางของประเทศเวียดนามและจีน และในนครพนม ชาติพันธุ์ไทยแสกจะอยู่ที่บ้านอาจสามารถ อำเภอเมืองนครพนม ส่วน ชาติพันธุ์ไทยข่า มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในแขวงสุวรรณเขต แขวงสาละวัน และแขวงอัตปือ สปป.ลาว ซึ่งราวปี พ.ศ. 2436 ยังเป็นดินแดนของราชอาณาจักรไทยอยู่ และในปัจจุบัน ชาติพันธุ์ไทยข่าในนครพนม จะมีไม่ชัดเหมือนชาติพันธุ์อื่น ๆ ส่วนใหญ่จะแทรกอยู่ตามชุมชนต่าง ๆ เช่น ในอำเภอธาตุพนม และอำเภอนาแก

                    ชาติพันธุ์ไทญ้อ ถิ่นฐานดั้งเดิมของชาวไทยญ้อ หรือไทยย้อ อยู่ที่เมืองหงสา แขวงไชยบุรี สปป.ลาว หรือจังหวัดล้านช้างของไทยสมัยหนึ่ง ไทยญ้อส่วนใหญ่อพยพมาตั้งถิ่นฐานใหม่ที่ไชยบุรี ปากน้ำสงคราม ริมฝั่งแม่น้ำโขง ตำบลไชยบุรี อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนมในปัจจุบัน ชาติพันธุ์ผู้ไทยญ้อในนครพนมปัจจุบัน ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ อำเภอท่าอุเทน และอำเภอศรีสงคราม ชาติพันธุ์ไทยกระเลิง บรรพบุรุษมาจากเมืองเวียงอ่างคำ แขวงสะหวันนะเขต ประเทศลาว และในปัจจุบัน จะอยู่ที่ชุมชนบ้านหนองสังข์ อำเภอนาแก, และอำเภอโพนสวรรค์มากที่สุด ส่วน ชาติพันธุ์ไทยอีสาน หรือ ไทยลาว ตามประวัติศาสตร์จะอพยพมาจากละว้าหรือข่า ลงมาอยู่ในแดนสุวรรณภูมิ นับเป็นกลุ่มชาติพันธุ์แรกที่เข้ามา และได้แบ่งเป็นอาณาจักรใหญ่ ๆ 3 อาณาจักรด้วยกัน คือ 1 อาณาจักรทวารวดี, 2 อาณาจักรโยนก และอาณาจักรที่ 3 คือโคตรบูร ซึ่งก็คือชาวข่าที่มาสร้างอาณาจักรในลุ่มน้ำโขง เมืองโคตรบูร หรือนครพนมในปัจจุบัน ปัจจุบันชาวชาติพันธุ์ไทยอีสาน หรือไทยลาว ในนครพนมจะอยู่ที่ตำบลต่าง ๆ ในอำเภอนาหว้า

       ชาติพันธุ์ไทยโส้ บรรพบุรุษได้อพยพมาจากดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงบาตั้งรกรากบริเวณต้นน้ำ ปัจจุบัน ชาติพันธุ์ไทยโส้ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ บ้านคำฮาก ตำบลโนนตาล อำเภอท่าอุเทน และบ้านโพนจาน อำเภอโพนสวรรค์ ชาติพันธุ์ไทยกวน จากประวัติเป็นชาติพันธุ์ที่มาจากแค้วนสิบสองจุไทย ซึ่ง “ขุนบรม” เป็นผู้ก่อตั้งเมืองแถง ในราวศตวรรษที่ 12 เมื่อเกิดทุพพิกภัย จึงได้อพยพมาทางใต้อาศัยอยู่ตามลำน้ำเซน้อย และมาที่เมืองนครพนม ปัจจุบัน ชาติพันธุ์ไทยกวนส่วนใหญ่จะอยู่กันเป็นชุมชนที่เหนียวแน่น ณ บ้านนาถ่อนทุ่ง ตำบลนาถ่อน อำเภอธาตุพนม


     

ละกลุ่มชาติพันธุ์ล่าสุดที่เพิ่งค้นพบก็คือ ชาติพันธุ์ไทยตาด เป็นกลุ่มชาติพันธุ์เล็ก ๆ ที่ได้รับการรองรับและขึ้นทะเบียนเป็นชาติพันธุ์ที่ 9 ของจังหวัดนครพนม เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ 2565 ปัจจุบัน ตั้งชุมชนอยู่ที่ ตำบลบ้านผึ้ง อำเภอเมืองนครพนม จากเดิมชาวไทยตาดมีถิ่นฐานอยู่บริเวณสิบสองปันนา มณฑลยูนานของจีน และได้อพยพไปอยู่ประเทศพม่า แถบลุ่มน้ำสาละวิน-อิระวดี จนกระทั่งขัดแย้งกับกลุ่มชนพม่า จึงได้อพยพโยกย้ายไปตามแม่น้ำโขง เข้าสู่เมืองหลวงพระบาง สปป.ลาว และอพยพเคล่ือนย้ายมาสู่เมืองท่าแขก หรือแขวงคำม่วน ก่อนจะเลื่อนไหลมาอยู่ที่จังหวัดนครพนมในปัจจุบัน

       ส่วน ชาวไทยเชื้อสายจีนในนครพนม บรรพบุรุษอพยพมาจากจังหวัดแต้จิ๋ว เมืองชัวเถา มณฑลกวางตุ้ง  ตอนใต้ของประเทศจีน โดยเดินทางมาทางเรือผ่านมหาสมุทรแปซิฟิค และเข้ามาในประเทศไทย ปัจจุบันมีการรวมกลุ่มพ่อค้าจีนในนครพนม และตั้งเป็น “สมาคมพ่อค้าจีน” และมีความสัมพันธ์อันดีกับชาวไทยในนครพนมเสมอมา 

       และชาวไทยเชื้อสายเวียดนาม ซึ่งเป็นเชื้อสายที่มีมากที่สุดในนครพนม นั่นเพราะนครพนมมีพรมแดนติดกับอินโดจีน ชาวเวียดนามจึงย้ายถิ่นฐานเข้ามาอาศัยและกระจายอยู่ในหลาย ๆ พื้นที่และหลายยุค ตั้งแต่ ยุคที่ 1 ชาวเวียดนามนับถือศาสนาคริสต์ ที่เข้ามาในนครพนมปลายศตวรรษที่ 18 ส่วนมากจะอยู่ในบ้านหนองแสง อำเภอเมืองนครพนม กลุ่มนี้มาจากภาคกลางของเวียดนาม เช่น จังหวัดฮาติ๋ง (HA Tinh), เงอัน (Nghe An) ส่วน ยุคที่ 2 ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 ยุคที่มีการการต่อต้านฝรั่งเศสในประเทศเวียดนามที่มีความรุนแรงมากขึ้นขบวนการรักชาติจึงได้เกิดขึ้นหลายขบวนการในช่วงเวลานั้น และยุคที่ 3 ปีค.ศ. 1946


                ช่วงหลังสงครามโลกที่ 2 ชาวเวียดนามจำนวนมากต้องอพยพหนีภัยสงครามมาตั้งหลักแหล่งในประเทศไทย และส่วนมากจะเลือกอาศัยอยู่ในตัวเมืองจังหวัดนครพนมการได้เรียนรู้รากเหง้าและที่มาของตนเองจากบรรพบุรุษ และการได้รู้จักผู้คนอื่น ๆ ที่อยู่ร่วมกันในพื้นที่เดียวกัน จะทำให้เราเข้าใจในความหลากหลายของผู้คน และเรียนรู้ที่จะเคารพซึ่งกันและกัน เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน...


0 ความคิดเห็น

Ask OKMD AI