“แสกเต้นสาก” การแสดงสุดคลาสสิกของชาวไทยแสกแห่งเมืองนครพนม
“แสกเต้นสาก”
การแสดงสุดคลาสสิกของชาวไทยแสกแห่งเมืองนครพนม
เสียงแคนอีสานแคนดังจ้นๆ สองนิ้วมือพนมพริ้วไหวเป็นระวิงกำลังควบคุมโน็ตเพลงบนเต้าแคน เพิ่มจังหวะจากช้าไปหาบีทกลาง ๆ ก่อนจะไต่ระดับที่สามารถเซิ้งตามได้ พร้อมกับเสียงขับร้องเพลงอีสานจากนักร้องดังขึ้น แต่ลงตัวกับเสียงฉิ่งดังฉับ ๆๆๆๆๆ และเสียงกลองที่ตีอย่างเข้าจังหวะ ขณะเดียวกัน เสียงไม้สากตัวยาวทาสีขาวสลับแดงก็กระทบกันดังเป็นจังหวะ พร้อมกับนักแสดงผู้เต้นสากหญิง-ชาย ฟ้อนและเต้นซอยเท้าเป็นจังหวะถี่ ๆ ให้ขาก้าวลงไปในช่องที่ไม้กระทบกันได้อย่างเหมาะเจาะสวยงาม ซึ่งใครที่ได้ชมการแสดงแสกเต้นสากนี้ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เป็นการแสดงพื้นบ้านชาติพันธุ์ที่คลาสสิกและเท่มาก!
การแสดง “แสกเต้นสาก” นี้ ใช่ว่าจะหาชมได้ทั่วไป หรือจากทุกชุมชนของชาติพันธุ์ “ไทยแสก” หรือ “ไทแสก” เพราะแสดงแสกเต้นสากนี้ ต้องเกิดจากความรัก ความสามัคคีของผู้คนในชุมชน เพราะเป็นการแสดงที่ต้องอาศัยเวลาในการฝึกฝน ฝึกซ้อมอย่างจริงจังสม่ำเสมอ และการแสดงแต่ละครั้ง ก็มีจำนวนนักแสดงค่อนข้างมาก เรียกว่าไม่น้อยกว่า 20 คน ทั้งนักร้อง นักดนตรี นักแสดงที่ตีไม้สาก และนักแสดงที่เต้นสาก แล้วไหนจะการขนย้ายไม้สากที่มีขนาดใหญ่ ยาว และหลายชิ้นนั่นอีกด้วย เรียกว่าถ้าใจไม่รักมากพอ และผู้นำชุมชนไม่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการสืบสานอย่างจริงจัง การแสดงนี้ก็อาจจะสูญหายไปเหมือนกับการแสดงอื่น ๆ อย่างน่าเสียดาย
จังหวัดนครพนมมี “ชาติพันธุ์ไทยแสก” 1 ใน 9 ชาติพันธุ์ในนครพนม เป็นชาติพันธุ์ดั้งเดิมที่ตั้งรกรากอยู่ริมแม่น้ำโขง ตำบลอาจสามารถ อำเภอเมืองนครพนม โดยชุมชนอยู่ห่างจากตัวเมืองนครพนมราว 4 กิโลเมตร เดิมทีประเพณีแสกเต้นสากจะแสดงในวันบวงสรวงเจ้าที่ “โอ้งมู้” ตรงกับประเพณี “กิน เตรท” หรือ “วันตรุษญวน” ที่จะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีเท่านั้น เป็นการบวงสรวงวิญญาณของบรรพบุรุษ แสดงออกถึงความกตัญญูกตเวที ที่ได้คอยช่วยให้ลูกหลานในชุมชนอยู่เย็นเป็นสุข หายจากอาการเจ็บไข้ได้ป่วย และประสบความสำเร็จในอาชีพการงาน
ในวันดังกล่าว ชาวไทยแสกจะนำดอกไม้ ธูปเทียน ข้าวปลาอาหารไปที่ศาลเจ้า ซึ่งชาวแสกเรียกว่า “ศาลโองมู้” หรือ “องมู่” ซึ่งเป็นบรรพบุรุษที่ชาวแสกเคารพนับถือมาตั้งแต่บรรพบุรุษ โดยศาลจะตั้งอยู่ทางตะวันออกติดริมฝั่งโขง มีลักษณะเหมือนศาลพระภูมิทั่ว ๆ ไป บริเวณรอบศาลจะมีไม้ที่ทำเป็นดาบทาสีอยู่รอบศาล ซึ่งหมายถึง ความสามารถในด้านการต่อสู้ของชาวไทยแสกตั้งแต่ครั้งบรรบุรุษที่สามารถนำชาวบ้านของตนมาหาชัยภูมิอันเหมาะสมได้ และเมื่อถวายเสร็จแล้ว ก็จะมีการแสดงเต้นสาก โดยมีชาวแสกชาย-หญิงประมาณ 10 คู่ ออกมาเต้นบวงสรวง
เริ่มทำการแสดง....
การแสดง “แสกเต้นสาก” ในจังหวัดนครพนม จะมีให้ชมในงานเทศกาลต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม หรืองานเทศกาลประจำจังหวัด งานเทศกาลชาติพันธุ์ ซึ่งถือเป็นงานนอกเทศกาลบวงสรวงเจ้าที่ประจำปีของชาวไทยแสก โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้ชมความงดงามและความเป็นเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของศิลปะการแสดงของชาวไทยแสก และเพื่อให้ลูกหลานในชุมชน คนรุ่นใหม่ ได้อนุรักษ์ ต่อยอด สืบสาน และได้เรียนรู้ถึงขนบธรรมเนียมประเพณีชาติพันธุ์ที่อยู่ในพื้นที่ของตน และหากทำการแสดงนอกเทศกาลบวงสรวงฯ ประจำปีของชาวไทยแสก ผู้แสดงจะต้องทำพิธีขอขมาเจ้าที่ก่อน โดยในอดีตจะต้องนำหัวหมู เงิน และเหล้าไปทำพิธีขอขมาที่ศาลเจ้าประจำหมู่บ้าน และเสี่ยงทายด้วยไม้สีที่อยู่ในศาล หากเจ้าที่ไม่อนุญาต ก็จะไม่สามารถทำการแสดงเต้นสากนอกเทศกาลได้ หรือหากไปแสดงโดยไม่ได้ขออนุญาต ก็จะมีเหตุร้ายเกิดขึ้น เช่น ป่วยไข้โดยไม่มีสาเหตุ เป็นต้น
ในสมัยก่อน ไม้สากที่ใช้ตีในการเต้นสาก จะเป็นไม้สากท่ีใช้ตำข้าว แต่มีขนาดยาวกว่า ตรงกลางเรียวเล็กกว่า ส่วนไม้รองพ้ืนสากจะใช้ไม้อะไรก็ได้ ขอให้มี 1 คู่ และมีขนาดเท่ากันก็พอ ส่วนจังหวะการตีสากและการเคาะจังหวะในสมัยโบราณนั้น จะไม่มีการตระเตรียมใด ๆ แค่จับไม้สากมาเคาะให้เป็นจังหวะ ซึ่งแตกต่างจากการแสดงเต้นสากในปัจจุบัน ที่มีหลายจังหวะ ต้องเกิดจากการฝึกฝนจนชำนาญ ทั้งคนตีสากและคนเต้นสาก เพราะไม่อย่างนั้น ไม้สากก็จะตีกระทบขานักแสดงที่เต้นทำให้บาดเจ็บได้ เพราะจังหวะของการเต้นสากในสมัยนี้จะจังหวะที่ค่อนข้างเร็ว


