PHANOM
PHANOM
หมุดหมายของนักท่องเที่ยว คอกาแฟ และคนรักการอ่าน
ทันทีที่ยืนอยู่หน้าร้าน “พนม” กลิ่นหอมฟุ้งจากการคั่วเมล็ดกาแฟโดยรสมือของ ‘แมน-ธรรมนิตย์ พนมศักดิ์’ ก็ช่างเย้ายวนให้คอกาแฟเร่งมือผลักประตู แล้วรีบก้าวเข้าไปภายในร้าน และเมื่อสองเท้าก้าวพ้นประตูกระจกใส นอกจากกลิ่นหอมจากเมล็ดกาแฟที่ปะทะกับปลายจมูกชัดเจนขึ้น สายตาที่กวาดมองไปรอบ ๆ ก็พบกับหนังสือและภาพถ่ายที่ถูกจัดวางไว้อย่างเป็นระเบียบ อยู่ทุกซอกมุมของร้าน… ที่แห่งนี้เป็นทั้งบ้านเกิด และอดีตร้านตัดผม ‘พนมบาร์เบอร์’ ก่อนที่จะกลายมาเป็นร้านกาแฟเล็ก ๆ ซึ่งเป็นเสมือนหมุดหมายของนักท่องเที่ยว คอกาแฟ และคนรักการอ่าน เมื่อยามเดินทางมาถึงกลางเมืองในจังหวัดนครพนม
กว่าจะเป็น “พนม” เช่นในวันนี้
ในวัยเด็กของ “แมน” เขาเติบโตขึ้นภายใต้ระเบียบและความคาดหวังของพ่อ-แม่ ทั้งเส้นทางการเรียนและเส้นทางการทำงานในอนาคต “เด็ก ๆ ผมอยู่ในกรอบที่พ่อแม่วางเอาไว้ เรียนหนังสือต้องอยู่ห้องคิงส์ จบเกรดเฉลยต้อง 3.5 โตไปต้องเป็นหมอ เป็นวิศวะ ผมออกจากนครพนมก็ตามเหตุผลที่พ่อแม่อยากให้เป็น คือไปเรียนมหาวิทยาลัย แล้วก็มีงานที่ดีทำ แต่ว่างานที่ดีนั้น มันดีสำหรับคนที่ทำด้วยหรือเปล่า” แมนเล่าให้ฟังว่า หลังจากเรียนจบที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ในจังหวัดนครราชสีมา เขาก็ไปเป็นวิศวกรอยู่ในบริษัทเครือซีเมนต์ไทย ซึ่งถือว่ามีความมั่นคงตามแบบฉบับที่ครอบครัววาดฝันไว้ ผ่านไปเกือบ 8 ปี เขากลับพบว่าตนเองไม่มีความสุขกับการทำงานด้านวิศวกรเอาเสียเลย จนได้ออกเดินทางไปเก็บภาพ ถ่ายสารคดีในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ จึงทำให้รู้ว่า ‘งานถ่ายภาพ’ คือ ความสุขหนึ่งที่เขารักและหลงใหลมัน ไม่น้อยไปกว่าการได้ดื่มด่ำกับรสชาติของกาแฟที่กลมกล่อม

ที่สุดแล้วเขาก็ตัดสินใจลาออกจากบริษัทในเมืองใหญ่ กลับมาบ้านที่บ้านเกิดนครพนม และมุ่งแสวงหาความรู้ด้านกาแฟ โดยเริ่มจากการศึกษาในอินเตอร์เน็ต ก่อนจะไปศึกษาอย่างจริงจังในคอร์สการเรียนกับกูรูผู้รู้ แม้จะโดนเสียงทัดทานจากพ่อแม่ แต่เขาก็ยังคงมุ่งมั่น ไม่หวั่นไหว เงินเก็บก้อนสุดท้ายจากการเป็นวิศวกร ได้แปรเปลี่ยนไปเป็นร้านกาแฟเล็ก ๆ
“ปีแรกที่ทำร้านก็ประมาณปี 62 ตอนนั้นชงอย่างเดียว และเป็นการทดลองเปิดแค่วันเสาร์กับวันอาทิตย์ เริ่มหาความรู้จากการเปิดกูเกิลกับยูทูปก่อน จากนั้นจึงเริ่มเรียนให้ลึกซึ้งจริงจังมากขึ้น ส่วนใหญ่ผมจะไปเรียนกับคนที่เรียกว่าเป็นจอมยุทธด้านกาแฟตัวจริงไม่ได้เรียนแบบเน้นที่ใบวุฒิการศึกษา” เมื่อย่างเข้าสู่ปีที่สองของการทำร้าน “แมน” ปักธงไว้ว่า เขาจะต้องเป็นนักคั่วกาแฟให้ได้ ตอนนั้นเขาจึงต้องทำงานหนักเพื่อพัฒนาตนเอง
“แมน” เล่าขยายความต่อเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า “ช่วงเวลานั้นเป็นช่วงเวลาที่เหนื่อยมาก เหนื่อยไม่น้อยไปกว่างานที่ทำในตอนเป็นวิศวกรเลย แต่สิ่งที่ต่างกันก็คือ ความสุข เราชอบมัน เราทำแล้วสนุกไปกับมัน ทำให้เรายืนระยะกับมันได้นาน อันนี้แสดงว่ามันหล่อเลี้ยงจิตวิญญาณเราแล้ว”
แบรนด์กาแฟ “พนม”
ที่ผ่านการบ่มเพาะด้วยฝีมือตนเอง
ปัจจุบันร้านกาแฟ “พนม” เปิดให้บริการ 2 สาขาในจังหวัดนครพนม และกำลังเปิดทำการอีกหนึ่งสาขาในเขตปริมณฑลย่านชานเมือง รวมถึงมีแผนที่จะขยายร้านไปสู่ย่านใจกลางของกรุงเทพมหานคร โดยร้าน “พนม” ก็คือ ตัวตนของ “แมน” ที่ผสานไปกับบริบทของสถานที่และลูกค้าที่เป็นคอกาแฟ “อย่างที่นครพนม ผมจะคั่วกลางกับคั่วอ่อน ผมปูไปเลยว่าเปรี้ยว แต่ถ้าในกรุงเทพฯ จะมีคั่วเข้ม กลาง อ่อน เพราะวัฒนธรรมการดื่มกาแฟแต่ละที่ไม่เหมือนกัน” แมนเล่าให้ฟังว่า หัวใจที่ทำให้เขาเติบโตอย่างรวดเร็ว แม้ว่าจะเปิดร้าน ได้เพียง 5 ปีเศษ ก็คือ การไม่หยุดที่จะพาตัวเองไปสู่การเรียนรู้ ควบคู่ไปกับการเข้าแข่งขันในเวทีน้อยใหญ่ต่าง ๆ ทั้งนี้ในทุก ๆ เวทีการแข่งขัน เขาไม่ได้มุ่งเป้าไปสู่การแสวงหาชื่อเสียง เพียงแต่ต้องการบ่มเพาะให้ทั้งฝีมือและจิตใจแข็งแกร่งขึ้น
“จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไปลงเรียนอยู่ รวมค่าใช้จ่ายต่อปีในการเรียนก็เป็นเงินหลายแสนบาท สิ่งนี้คือไม่เคยหยุด คิดอย่างเดียวว่าอยากเก่งกว่าตอนนี้ที่เป็นอยู่ แล้วก็ยังพาตัวเองเข้าสู่การแข่งขันทุกปี มีทั้งตกรอบแรก มีทั้งเข้ารอบ 30 คนในการแข่งขันระดับประเทศ มีทั้งผิดหวังและสมหวัง ไม่ได้จะแข่งเพื่อจะเอาหน้า แต่อยากให้ข้างในของเราแกร่งขึ้น แกร่งจนวันหนึ่งที่เราสามารถถ่ายทอดความรู้ด้านการคั่วกาแฟนี้ให้คนอื่นได้จริง ๆ”
สำหรับเสน่ห์ที่แตกต่างในรสมือการคั่วกาแฟของ “แมน” ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเขาก็คือ การทำให้กาแฟซึ่งเป็นผลไม้ได้มีรสชาติแบบที่มันควรจะเป็น ไม่ใช่ความขม แต่คือเปรี้ยวและหวาน “กาแฟมันคือผลไม้ ผมเพียงแค่เป็นนักแปรรูปผลไม้ให้ได้เป็นรสชาติผลไม้เท่านั้นเอง ผมพยายามคั่วกาแฟให้เป็นกาแฟที่มีความเปรี้ยว ความหวาน ไม่ได้ทำให้กาแฟไหม้ข้างนอกแล้วรู้สึกขม” แม้ว่าจะได้รับการยอมรับทั้งในจังหวัดนครพนม และเป็นที่รู้จักในระดับประเทศแล้ว แต่ “แมน” ก็ยังยืนยันเสมอว่า เขายังไม่เคยพอใจกับจุดที่เป็นอยู่ เพราะว่าเมื่อใดก็ตามที่ความพอใจเกิดขึ้น ย่อมหมายความว่าการเรียนรู้ก็จะหยุดลงเช่นกัน
ช่วงท้ายบทสนทนา เมื่อชวนให้ “แมน” มองนครพนมในฐานะของเมืองแห่ง Learning City เขาก็มีความคิดเห็นว่า “ผมว่าพนมเป็นพื้นที่การเรียนรู้ได้ โดยผ่านกาแฟ คือกาแฟมันมีทั้งการคั่ว ทั้งการชง แต่พื้นฐานของการคั่วคือการชง ถ้าแนะนำก็ให้เริ่มต้นจากการหยอดน้ำลงเม็ด การสกัดเม็ดออกเป็นน้ำก่อน แล้วค่อยไปลงรายละเอียดเรื่องการคั่ว อาจจะลองหัดด้วยเครื่องมือหมุนเล็ก ๆ เพราะมันสามารถเริ่มต้นได้จากเมล็ดแค่ 50-100 กรัม อย่างผมจุดกำเนิดก็มาจากเครื่องคั่วเล็ก ๆ กว่าจะมาถึงอย่างทุกวันนี้ ซึ่งก็เช่นกัน การทำสิ่งที่สร้างสรรค์ หรือการทำให้เมืองเป็นเลินนิ่งซิตี้ได้อย่างแท้จริง ก็สามารถเริ่มจากจุดเริ่มต้นที่เล็ก ๆ ก่อนได้เช่นกัน”
หลังบทสนทนาจบลง “แมน” ลงมือดริปกาแฟให้เราได้ดื่มด่ำกับรสชาติเปรี้ยวอมหวานที่ปราศจากความขมให้ได้ลิ้มรส นี่คงเป็นการร่ำลาที่ชุ่มคอ สดชื่นที่สุดครั้งหนึ่ง “แมน” แยกตัวไปยังพื้นที่คั่วเมล็ดกาแฟที่อยู่ด้านในสุด เพียงไม่นาน เสียงเครื่องคั่วกาแฟก็เริ่มกลับมาทำงานอีกครั้ง กลิ่นหอมฟุ้งจากเมล็ดกาแฟก็ได้เดินทางมากระทบกับปลายจมูก แม้จะก้าวเท้าออกจากร้านและมายืนอยู่ที่ริมถนนอภิบาลบัญชาแล้ว แต่กลิ่นหอมฟุ้งก็ยังคงอบอวลอยู่รอบ ๆ ตัวเรา

