นครพนม

"มากกว่าเสียงดนตรีอีสาน คือรากเหง้าพื้นบ้านแห่งประเพณี”

14 พฤศจิกายน 2024
|
138 อ่านข่าวนี้
|
0




Folklore x Folk music

"มากกว่าเสียงดนตรีอีสาน คือรากเหง้าพื้นบ้านแห่งประเพณี”




                89 กิโลเมตรจากอำเภอเมืองนครพนมถึงบ้านท่าเรืออำเภอนาหว้า หนึ่งใน 12 อำเภอที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดนครพนม หมุดหมายของเราครั้งนี้อยู่ที่หมู่บ้าน   “ขุมทรัพย์ทางดนตรีอีสาน” ที่ไม่ได้เป็นแค่แหล่งผลิตและจำหน่ายเครื่องดนตรีพื้นบ้านอีสานที่ใหญ่ที่สุดในประเทศเท่านั้น หากแต่ยังเป็นแหล่งบ่มเพาะนักดนตรีอีสานรุ่นใหม่ที่มีความร่วมสมัย และยังเป็นศูนย์รวมของปราชญ์ดนตรีอีสานชั้นครู ที่ในโรงเรียนไม่มีสอนอีกด้วย “บ้านท่าเรือ” จึงเป็นหมู่บ้านแห่งเดียวในภาคอีสาน ที่มีชื่อเสียงดังไกลไปทั่วโลก ในเรื่องดนตรีอีสานพื้นบ้านครบวงจร 

ซุ้มประตูทางเข้าหมู่บ้านเป็นรูปแคนยักษ์ ตั้งอยู่อย่างโดดเด่นสองฟากฝั่งถนน เสียงดนตรีอีสาน พิณ แคน โหวด โปงลาง และกลองอีสานลอยลมมาไพเราะเสนาะหู บางจังหวะปลุกเร้าจนอยากลุกขึ้นเซิ้งเป็นสัญญาณว่า"คุณได้เข้าสู่เขตแห่งประเพณีดนตรีพื้นบ้านอีสานบ้านท่าเรือแล้วเด้อ


“แคน พิณ โหวด หลากหลาย ผ้าไหมสวยงาม วัฒนธรรมล้ำค่า ภาษาเฉพาะ ไพเราะเสียงดนตรี” นี่คือคำขวัญของบ้านท่าเรือ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านที่เป็นรากเหง้าของชุมชน ที่สืบทอด สานต่อ ส่งต่อมาอย่างยาวนานจากบรรพบุรุษกว่า 100 ปี และในปัจจุบันได้มีการบูรณาการทั้งรูปแบบเครื่องดนตรี และการละเล่นดนตรีอีสานที่มีความร่วมสมัยและเป็นสากลมากขึ้น เพราะไม่ใช่แค่นักดนตรีพื้นบ้านอีสานเท่านั้นที่เล่นเครื่องดนตรีอีสาน หากแต่ทุกวันนี้ ศิลปินชั้นนำระดับประเทศ ไปจนถึงนักดนตรีชาวต่างชาติ มักจะใช้ดนตรีอีสานมาผสมผสานกับดนตรีในรูปแบบของตนเองได้อย่างกลมกลืนและลึกซึ้ง





หมู่บ้านแห่งเสียงดนตรี


                บ้านท่าเรือแห่งนี้ยังเป็นศูนย์ศิลปาชีพแห่งแรกที่จัดตั้งขึ้นในประเทศไทย เป็นหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยวระดับจังหวัดประจำปี พ.ศ. 2549 ที่มีผลิตภัณฑ์ OTOP ที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ เครื่องดนตรีพื้นเมืองอีสาน พิณ แคน โหวด โปงลาง และกลองอีสาน

                ย้อนกลับไปในอดีตร้อยกว่าปีที่ผ่านมา การทำเครื่องดนตรีอีสานครั้งแรกที่บ้านท่าเรือ เกิดจากชาวบ้านทำไว้เป็นเครื่องละเล่นและขายกันเองในระดับครัวเรือน เพื่อหารายได้เสริมหลังว่างจากฤดูทำนา ทำสวน ต่อมาผู้นำชุมชนได้มองเห็นความเข้มแช็งตรงนี้ ก็เลยชวนชาวบ้านในชุมชนพัฒนาต่อยอดตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เพื่อยกระดับคุณภาพการผลิตให้เป็นที่ยอมรับของตลาดเครื่องดนตรีอีสานที่เป็นสากลมากขึ้น ทำให้ปัจจุบัน เครื่องดนตรีอีสานที่ผลิตจากบ้านท่าเรือแห่งนี้ กลายเป็นสินค้าระดับเศรษฐกิจที่ส่งออกขายไปทั่วประเทศ และส่งออกไปยังต่างประเทศ ซึ่งสร้างรายได้ให้กับครัวเรือนเดือนละ 20,000 - 30,000 บาท และสร้างรายได้หมุนเวียนในชุมชนปีละมากกว่า 100 ล้านบาท




                หมู่บ้านท่าเรือ ยังเป็นหมู่บ้านแห่งเดียวในประเทศที่เปิดศูนย์เรียนรู้ชุมชน ในการส่งเสริมและสนับสนุนการสืบสานอาชีพซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่เป็นรากเหง้าของชุมชน เพื่อผลักดันและขับเคลื่อนการผลิตเครื่องดนตรีอีสานให้ลูกหลานในชุมชนได้สืบทอดอย่างมีแบบแผน หลักสูตร และเป็นรูปธรรมมากขึ้น ซึ่งการออกแบบและผลิตเครื่องดนตรีอีสานเหล่านี้ ยังไม่มีการเรียนการสอนในโรงเรียน หรือสถาบันสอน เหมือนกับการเล่นดนตรีอีสาน หากใครจะเรียนทำเครื่องดนตรีอีสาน จะต้องมาฝึกฝนจากปราชญ์ชาวบ้านเท่านั้น

           

                “แคน” จากบ้านท่าเรือ นับเป็นเครื่องดนตรีที่ได้รับความนิยมมากที่สุด โดยแคนจากบ้านท่าเรือใช้ไม้ไผ่คู่แคนที่นำมาจากฝั่งสปป.ลาวใสการประดิษฐชิ้นงาน ปราชญ์ผู้ผลิตดนตรีอีสานในชุมชนท่าเรือบอกว่า “ไม้ไผ่คู่แคนหายากในบ้านเรา จึงต้องสั่งมาจากฝั่งลาวเท่านั้น" และเมื่อได้ไม้ไผ่คู่แคนมาแล้ว ก็ยังทำแคนไม่ได้ในทันที ต้องทำการคัดลำไม้ไผ่ที่สวยที่สุดก่อน จากนั้นนำไปตากแดดและลมควันเพื่อให้ตัวไม้ไผ่มีความแข็งแรงมากขึ้น ก่อนจะนำมาตัดให้ได้ขนาดตามวิธีภูมิปัญญาพื้นบ้าน และนำมาประกอบใส่ลิ้นให้เกิดเสียง ซึ่ง “ลิ้นแคน” เป็นส่วนสำคัญที่สุดที่จะทำให้เสียงแคนลำนั้นไพเราะแค่ไหน โดยลิ้นแคนจะมี 2 ชนิด คือ “ลิ้นเงิน” และ “ลิ้นทอง” ที่ให้โทนเสียงแตกต่างกัน




                 “ลิ้นเงิน” ทำจากเงินเหรียญบาทสมัยโบราณนำมาหลอมผสมทองแดง จากนั้นแปรรูปออกมาเป็นเส้นและนำมาตีเป็นลิ้น ซึ่งลิ้นแคนจะทำหน้าที่ควบคุมลมเข้าออกให้เกิดเสียง โดยลิ้นเงินจะให้เสียงที่นุ่มนวล ส่วน “ลิ้นทอง" ทำมาจากทองแดงที่หลอมมาจากเหรียญสตางค์แดง เพื่อให้ได้ทองแดงบริสุทธิ์ จากนั้นจะทำการเทียบเสียงจากเครื่องเทียบเสียง เพื่อเข้ากับคีย์มาตรฐาน แล้วนำไปประกอบกับเต้าแคน ที่ทำจากไม้หนามเกลี้ยง หรือไม้รักษ์ ด้วยเนื้อมีลวดลายที่สวยงาม ส่วน “พิณสามสาย” จะประดิษฐ์จากไม้ขนุนหรือไม้ประดู่ มีทั้งพิณโปร่ง และพิณไฟฟ้า





                “บ้านท่าเรือ" จึงเป็นหมู่บ้านเครื่องดนตรีอีสานในนครพนม ที่เป็นทั้งแหล่งผลิตเครื่องดนตรี ผลิตนักดนตรีอีสานระดับเยาวชน มีปราชญ์ที่สอนการทำเครื่องดนตรีอีสาน และสอนการเล่นดนตรีอีสานแบบดั้งเดิม มากที่สุดในประเทศ และเดือนมีนาของทุกปี ชาวท่าเรือจะมีการจัดงาน “วันเสียงแคนดัง” เทศกาลดนตรีอีสานระดับเฟสติวัลท้องถิ่น มีการแสดงศิลปะวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น เพื่อเป็นการสืบทอดและสานต่อวัฒนธรรมด้านดนตรีอีสานให้คนรุ่นใหม่ได้ร่วมกันอนุรักษ์อย่างบูรณาการให้มีความร่วมสมัยในระดับสากลต่อไป



                    “ การทำแคนจะไม่มีโรงเรียนหรือสถาบันสอน แต่จะต้องเรียนรู้พัฒนาจากภูมิปัญญาของปราชญ์ในชุมชนเท่านั้น” นี่เป็นอีกหนึ่งพื้นที่สร้างสรรค์ในนครพนม ที่นำรากเหง้าทางภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านดนตรีอีสานมาเชื่อมต่อเชื่อมโยงกับคนรุ่นใหม่ได้อย่างลึกซึ้ง และมีเสน่ห์ เสียงดนตรีอีสานอันไพเราะค่อย ๆ เบาลงเมื่อเราขับรถพ้นซุ้มประตูหมู่บ้านผ่านแคนยักษ์ แต่ความประทับใจของความยิ่งใหญ่ของการทำสิ่งนี้ในบ้านท่าเรือยังคงฝังอยู่ และเชื่อว่าใครได้เข้ามาสัมผัสที่นี่ จะรู้สึกแบบนั้นเช่นกัน ...


0 ความคิดเห็น

Ask OKMD AI