Notifications

You are here

ความรู้ออนไลน์

สร้างสรรค์เมืองแห่งการเรียนรู้

แก้ไข 08 Mar 2024   |   439   |  0 ความคิดเห็น   |   OKMD

เมื่อวันแห่งความรัก 14 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับข่าวดีจากยูเนสโกที่ได้ประกาศรับรองให้ 3 เมืองของไทยเป็นเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ระดับโลก บทความนี้จึงจะแนะนำให้รู้จักกับเมืองแห่งการเรียนรู้

          ารพัฒนาเมืองจำเป็นจะต้องมีการพัฒนาในมิติที่หลากหลายและรอบด้าน มิใช่การพัฒนาในเชิงพื้นที่เท่านั้น ซึ่งการพัฒนาที่สำคัญอย่างการพัฒนาการเรียนรู้ของประชาชนที่ต้องส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต นับเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่จะทำให้การพัฒนาเมืองเป็นไปอย่างยั่งยืน (พลรพี ทุมมาพันธ์, สรียา โชติธรรม และกัญญ์ฐิตา ศรีภา, 2565) ดังนั้น จึงควรมีการพัฒนาเมืองให้เหมาะแก่การเรียนรู้ของคนในเมืองทุกช่วงวัยและส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้อย่างตลอดชีวิต ผ่านการพัฒนาและส่งเสริมให้เมืองมีคุณลักษณะเป็น “เมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City)”

          องค์การสหประชาชาติ (United Nations) ได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) 17 เป้าหมาย โดยเป้าหมายที่ 4 คือ เป้าหมายด้านการศึกษา ว่าด้วยการ “สร้างหลักประกันว่าทุกคนต้องมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต” (UN, 2015) โดยองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือยูเนสโก (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization: UNESCO) ได้เล็งเห็นว่าท้องถิ่นเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้การสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตประสบความสำเร็จ สถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิตของยูเนสโก (UNESCO Institute for Lifelong Learning: UIL) จึงได้จัดตั้งเครือข่ายระดับโลกด้านเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโก (The UNESCO Global Network of Learning Cities: GNLC) เพื่อช่วยรัฐบาลท้องถิ่นพัฒนากลยุทธ์ที่เป็นรูปธรรมในการสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้ (สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา, 2564)

          เมืองแห่งการเรียนรู้ คือ เมืองที่มีการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยการระดมทรัพยากรในทุกภาคส่วนมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้แบบครบวงจรสำหรับทุกคนและทุกระดับ ซึ่งมีเงื่อนไขพื้นฐานสำหรับการสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้ 3 ประการ ได้แก่ 1.ความมุ่งมั่นและเข้มแข็งของผู้นำ 2.การบริหารเมืองและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และ 3.การจัดสรรและบริหารทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเมืองแห่งการเรียนรู้จะมีคุณลักษณะสำคัญ 6 ประการ ได้แก่ 1.ส่งเสริมการเรียนรู้ตั้งแต่ระดับพื้นฐานจนถึงระดับอุดมศึกษา 2.ส่งเสริมการเรียนรู้ในครอบครัวและชุมชน 3.ส่งเสริมการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพในที่ทำงาน 4.ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย 5.ส่งเสริมคุณภาพและความเป็นเลิศในการเรียนรู้ และ 6.ส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างเข้มแข็ง ซึ่งการสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้จะยังให้เกิดประโยชน์สำคัญ 3 ประการ ได้แก่ 1.ประชาชนมีอำนาจในการตัดสินใจและการรวมกลุ่มทางสังคม 2.การพัฒนาทางเศรษฐกิจและความรุ่งเรืองทางวัฒนธรรม และ 3.การพัฒนาอย่างยั่งยืน (UIL, 2015)

          โดยมโนทัศน์และคุณสมบัติเมืองแห่งการเรียนรู้ข้างต้นนั้น เป็นแนวคิดที่มีความเป็นกลาง เอื้อต่อการนำไปปฏิบัติได้ในบริบทที่หลากหลายทั้งในเมืองใหญ่และเมืองเล็ก และใช้เป็นแนวทางสำหรับการพัฒนาเมืองและเข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโก (UNESCO GNLC) ซึ่งแนวคิดที่มีความเป็นกลางเช่นนี้มีข้อจำกัดในการนำไปใช้ในบริบทที่มีความเฉพาะเจาะจงกับการมุ่งเน้นการสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิตและพื้นที่ที่ขาดความพร้อมของทรัพยากร (พลรพี ทุมมาพันธ์, สรียา โชติธรรม และกัญญ์ฐิตา ศรีภา, 2565)

          สำหรับประเทศไทย ได้มีการเข้าร่วมเป็นเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโกและพัฒนาผลักดันเมืองสู่การเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ โดยการจะสมัครเข้าร่วมเครือข่ายจะต้องมีองค์ประกอบสำคัญ 4 ประการ ได้แก่ 1.แสดงถึงความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต 2.มีวิสัยทัศน์ชัดเจนที่จะส่งเสริมเมืองของตน 3.ผู้บริหารเมืองจะต้องนำแนวทางของเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโกมาใช้พัฒนาเมืองตามบริบทของประเทศ และ 4.ต้องได้รับการรับการเสนอชื่อโดยคณะกรรมการแหงชาติวาด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, 2563) ซึ่งเมืองควรมียุทธศาสตร์การพัฒนาที่สำคัญ 5 ด้าน ได้แก่ ด้านองค์การ ด้านความรู้ ด้านการเรียนรู้ ด้านบุคคล และด้านเทคโนโลยี (อังคณา นาสารี, จิณณวัตร ปะโคทัง, สมาน อัศวภูมิ และวิสุทธิ์ ราตรี, 2557) โดยที่จำเป็นจะต้องมีกระบวนการเสริมสร้างความสามารถชุมชนจากการสร้างกลไกการเรียนรู้ให้สมบูรณ์และเชื่อมต่อการสร้างความร่วมมือใหม่ ๆ ระหว่างภาคประชาสังคมรุ่นใหม่ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานเชิงพื้นที่ (อจิรภาร์ ประดิษฐ์, สันต์ สุวัจฉราภินันท์, ปรานอม ตันสุขานันท์, อัมพิกา ชุมมัธยา และจิรันธนิน กิติกา, 2566)         

            ปัจจุบันเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโกมีทั้งสิ้น 356 เมือง จาก 79 ประเทศ โดยประเทศไทยเข้าร่วมเป็นเครือข่ายแล้ว จำนวน 10 เมือง ได้แก่ เชียงราย เมื่อปี 2562 เชียงใหม่ ฉะเชิงเทรา และภูเก็ต เมื่อปี 2563 สุโขทัย พะเยา และหาดใหญ่ (จังหวัดสงขลา) เมื่อปี 2565 และล่าสุดที่ได้รับการรับรองเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2567 คือ กรุงเทพมหานคร ขอนแก่น และยะลา (UIL, 2024) นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายเมืองที่พยายามพัฒนาหรือเตรียมพัฒนาและมีศักยภาพที่จะเข้าสู่การเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ในเครือข่ายของยูเนสโก

          ทั้งนี้ การพัฒนาเมืองสู่การเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้นั้น มิใช่เพียงแต่การพัฒนาเพื่อให้เมืองได้เข้าร่วมเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโกเท่านั้น แต่จำเป็นต้องพัฒนาให้สามารถส่งเสริมการเรียนรู้ได้อย่างแท้จริง และการส่งเสริมและพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ก็ใช่ว่าจะส่งเสริมเฉพาะเมืองในเครือข่ายหรือเมืองที่จะเข้าร่วมเครือข่ายเท่านั้น แต่เมืองทุกเมือง ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่หรือจะเป็นเมืองที่มีความพร้อมมากน้อยเพียงใดก็ควรได้รับการพัฒนาให้เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ที่สามารถส่งเสริมให้มีการพัฒนาการเรียนรู้ของคนในเมืองและส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับทุกคน

“เพราะเมืองทุกเมืองควรเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้และคนทุกคนควรได้รับการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต



รายการอ้างอิง

พลรพี ทุมมาพันธ์, สรียา โชติธรรม และกัญญ์ฐิตา ศรีภา. (2565). เมืองแห่งการเรียนรู้: กรอบการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต. วารสารวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์, 1(1), 59-84.

สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา. (2564). เมืองแห่งการเรียนรู้ คืออะไร. จาก https://research.eef.or.th/learning-city/#_edn1       

สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ. (2563). องค์การยูเนสโกเปิดรับสมัครสมาชิกเครือข่ายระดับโลกด้านเมืองแห่งการเรียนรู้. จาก https://bic.moe.go.th/index.php/2021-08-19-21-31-29/269-unesco-8-5-2563

อจิรภาร์ ประดิษฐ์, สันต์ สุวัจฉราภินันท์, ปรานอม ตันสุขานันท์, อัมพิกา ชุมมัธยา และจิรันธนิน กิติกา. (2566). ประชาสังคม: ทรัพยากรการเรียนรู้ชุมชนเพื่อสร้างกลไกเมืองแห่งการเรียนรู้. เจ-ดี: วารสารวิชาการการออกแบบสภาพแวดล้อม, 10(1), 26-47.

อังคณา นาสารี, จิณณวัตร ปะโคทัง, สมาน อัศวภูมิ และวิสุทธิ์ ราตรี. (2557). การพัฒนายุทธศาสตร์ในการพัฒนาเทศบาลนครอุบลราชธานีสู่เมืองแห่งการเรียนรู้. วารสารศึกษาศาสตร์ ฉบับวิจัยบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 8(2), 233-242.

United Nations. (2015). Transforming our world: The 2030 Agenda for sustainable development. from https://sdgs.un.org/2030agenda

UNESCO Institute for Lifelong Learning. (2015). UNESCO Global Network of Learning Cities: guiding documents. from https://unesdoc.unesco.org/ark:/48223/pf0000234986

UNESCO Institute for Lifelong Learning. (2024). UNESCO Global Network of Learning cities (Our members). from https://www.uil.unesco.org/en/learning-cities/map?hub=38




เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้คุกกี้ (Cookie) เพื่อใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพเว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ นโยบายคุกกี้
ยอมรับ