การทำฟาร์มแบบธรรมชาติแบบทุนต่ำ (Zero Budget Natural Farming หรือ ZBNF) เป็นวิธีการทำเกษตรที่เน้นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและลดการพึ่งพาปัจจัยการผลิตภายนอก เช่น ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง โดยใช้ผลิตภัณฑ์จากมูลและปัสสาวะวัวเป็นหลัก วิธีการนี้มุ่งเน้นการปรับปรุงคุณภาพดิน เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ และผลิตอาหารที่ปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการสูง
ZBNF ถูกพัฒนาขึ้นโดย สุภัช ปาเลการ์
(Subhash Palekar) นักเกษตรกรชาวอินเดียในปี พ.ศ. 2538 โดยได้รับแรงบันดาลใจจากการทำเกษตรธรรมชาติของ มาซาโนบุ
ฟูกูโอกะ (Masanobu Fukuoka) นักเกษตรกรชาวญี่ปุ่น ZBNF เริ่มต้นในรัฐกรณาฏกะ
(Karnataka) และขยายไปยังรัฐอานธรประเทศ (Andhra Pradesh)
ซึ่งมีการนำไปใช้ในระดับรัฐเพื่อส่งเสริมการทำเกษตรที่ยั่งยืนและลดปัญหาหนี้สินของเกษตรกร
ปัจจุบัน ZBNF ได้รับความสนใจอย่างมากในประเทศอินเดีย โดยมีเกษตรกรกว่า 160,000 รายทั่วประเทศที่นำวิธีการนี้ไปปฏิบัติ รวมถึงรัฐอานธรประเทศยังมีเป้าหมายที่จะเป็นรัฐแรกของอินเดียที่ใช้การทำเกษตรแบบธรรมชาติ 100% ภายในปี พ.ศ. 2567
ZBNF มีหลักการสำคัญ 4 ประการ ได้แก่
- จีวัมฤต (Jeevamrit) : เป็นปุ๋ยน้ำชีวภาพที่ทำจากมูลและปัสสาวะวัว ผสมกับน้ำตาลและดิน ช่วยเพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุ ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียมในดิน
- บีจัมฤต (Bijamrit) : เป็นการเตรียมเมล็ดพันธุ์ด้วยสารละลายจากมูลและปัสสาวะวัว ช่วยในการป้องกันโรคและส่งเสริมการงอกของเมล็ด
- มัลชิง (Mulching) : การคลุมดินด้วยวัสดุธรรมชาติ เพื่อรักษาความชื้นในดิน ควบคุมวัชพืช และป้องกันการชะล้างหน้าดิน
- การระบายอากาศดิน (Soil Aeration) : การระบายอากาศในดิน
เพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์และปรับปรุงโครงสร้างของดิน
นอกจากนี้
ZBNF ยังใช้ "อัสทราส" (Astras) หรือสารสกัดธรรมชาติต่างๆ
เพื่อควบคุมศัตรูพืช
หลักฐานสนับสนุนประโยชน์ของ ZBNF
จากการทบทวนผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง พบว่า มีหลักฐานสนับสนุนประโยชน์ของ ZBNF ในหลายด้าน
ดังนี้
- ด้านผลผลิต : งานวิจัยในรัฐอานธรประเทศ
(Andhra Pradesh) ประเทศอินเดีย พบว่าการทำ ZBNF ไม่ส่งผลกระทบเชิงลบต่อผลผลิตในระยะสั้นเมื่อเทียบกับการทำเกษตรแบบทั่วไปและเกษตรอินทรีย์
ซึ่งช่วยลดความกังวลเรื่องการสูญเสียผลผลิต
- ด้านเศรษฐกิจ : ช่วยลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร
โดยลดการพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากภายนอก นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาดระหว่างประเทศ
ผ่านการผลิตอาหารอินทรีย์คุณภาพสูงด้วยต้นทุนต่ำ
- ด้านสิ่งแวดล้อม : ส่งเสริมการทำเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
อีกทั้งยังช่วยฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดิน ผ่านการใช้เทคโนโลยีพื้นบ้าน
- ด้านความยั่งยืน : เป็นวิธีการทำเกษตรที่จะพึ่งพาตนเองได้
และยังสามารถช่วยแก้ปัญหาความมั่นคงทางอาหาร
- ด้านสุขภาพ : ช่วยผลิตอาหารที่ปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการสูง ซึ่งอาจช่วยลดความเสี่ยงของโรคต่างๆ และส่งเสริมวิถีชีวิตที่มีสุขภาพดี
วิเคราะห์จุดแข็งและจุดอ่อนของ ZBNF
จุดเเข็ง
- ลดต้นทุนการผลิต : เกษตรกรไม่ต้องซื้อปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง
- ปรับปรุงคุณภาพดิน : การใช้ปุ๋ยน้ำชีวภาพ ช่วยเพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุ ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียมในดิน รวมถึงจุลธาตุอาหารต่างๆ
- เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ : การวิเคราะห์ข้อมูลทางพันธุกรรม หรือจีโนม (Genome) พบแบคทีเรียและเชื้อราที่มีประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของพืช
- ผลผลิตที่ดี : ไม่พบความแตกต่างของผลผลิตในระยะสั้นเมื่อเทียบกับการทำเกษตรแบบทั่วไปและเกษตรอินทรีย์
- ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม : ลดมลพิษในดินและน้ำจากการใช้สารเคมีทางการเกษตร
- ผลิตอาหารที่ปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการสูง : อาจช่วยลดความเสี่ยงของโรคต่างๆ เช่น มะเร็ง
จุดอ่อน
- ต้องใช้เวลา : อย่างน้อย 3-4 ปีในการฟื้นฟูผลผลิตของดินให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น
- ขาดแคลนวัตถุดิบ : การเตรียมปุ๋ยน้ำชีวภาพและเมล็ดพันธุ์เฉพาะ ต้องใช้มูลและปัสสาวะวัว ซึ่งอาจขาดแคลนในบางพื้นที่
- ต้องการความรู้เฉพาะทาง : เกษตรกรต้องมีความรู้เกี่ยวกับการใช้ปุ๋ยน้ำและการจัดการศัตรูพืชแบบธรรมชาติ
- ขาดโครงสร้างตลาด : ยังขาดโครงสร้างตลาดที่เหมาะสมสำหรับผลผลิต ZBNF
การปรับใช้ ZBNF กับประเทศไทยสามารถทำได้โดย
- ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรท้องถิ่น : ใช้วัสดุธรรมชาติที่มีอยู่ในท้องถิ่นในการเตรียมปุ๋ยน้ำชีวภาพ และเมล็ดพันธุ์ด้วยสารละลายจากมูลและปัสสาวะวัว
- ฝึกอบรมเกษตรกร : จัดการฝึกอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการทำเกษตร ZBNF และวิธีการจัดการวัชพืชและศัตรูพืชแบบธรรมชาติ
- สนับสนุนจากภาครัฐ : ภาครัฐควรสนับสนุนการทำเกษตร ZBNF ผ่านนโยบายและโครงการต่างๆ เช่น การจัดหาวัตถุดิบ การรับรองผลผลิต และการสร้างตลาดสำหรับผลผลิต
- ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา : เพื่อปรับปรุงและพัฒนาให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและภูมิประเทศของประเทศไทย
- สร้างเครือข่ายเกษตรกร : เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์
การทำฟาร์มแบบ ZBNF เป็นวิธีการทำเกษตรที่มีศักยภาพในการแก้ปัญหาหนี้สินของเกษตรกร ส่งเสริมความมั่นคงทางอาหาร และสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืนในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ยังต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเพื่อยืนยันประสิทธิภาพในระยะยาวและการปรับใช้ในบริบทที่แตกต่างกัน
อ้างอิง :
- Application of Jeevamrit Improves Soil Properties in Zero Budget Natural Farming Fields
- Economics of alternative models of organic farming: empirical evidences from zero budget natural farming and scientific organic farming in West Bengal, India
- Sustainability and productivity on zero budget natural farming
- Study of Zero Budget Natural Farming in Northern Raigad
- Zero Budget Natural Farming: An Agricultural Revolution, Prospects and Problems
- Determinants and Constraints for Adoption of Zero Budget Natural Farming (ZBNF) Practices