แนวคิดการบริโภคอาหารแบบ ‘Plant Based’ อาหารที่เน้นพืชเป็นองค์ประกอบหลักของมื้ออาหาร คือ เทรนด์สุขภาพสำคัญของคนในปี 2024
สิ่งที่เน้นย้ำเทรนด์นี้จากเว็บไซต์ Forbes ระบุว่า เมื่อปี 2023 มีการใช้ #plantbased ในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย TikTok มากถึง 1 พันล้านครั้งในสหรัฐอเมริกา ขณะเดียวกัน #plantbasedrecipes มียอดเข้าชม 200 ล้านครั้ง และคาดว่าอาหารจากพืชจะยังคงได้รับความนิยมในปี 2024 แต่ผู้คนอาจจะเลือกกินมากขึ้น
ส่วนประเทศไทย ศูนย์วิจัยธนาคารกรุงไทย (Krungthai COMPASS) คาดการณ์ว่า ตลาด Plant-Based Food ในประเทศไทยมีแนวโน้มสูงถึง 4.5 หมื่นล้านบาท หรือเติบโตเฉลี่ยปีละ 10% ในปี 2024 โดยมองว่าตลาดอาหารจากพืชหรือเนื้อจากพืชนี้เป็นทางเลือกที่น่าสนใจของผู้ประกอบการในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมและธุรกิจผลิตอาหาร เพื่อรองรับเทรนด์อาหารโลกที่ทำให้มีทางเลือกในการบริโภคเพิ่มมากขึ้น และสะดวกต่อการใช้ชีวิตในยุคนี้
แนวคิด Growing-Service Systems (GSS)
เพื่อที่จะได้ผลิตพืชผักที่ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค จึงมีแนวคิดที่เรียกว่า Growing-Service Systems (GSS) ซึ่งเป็นการนำแนวคิดการทำฟาร์มเกษตรหลากหลายรูปแบบ ทั้งเกษตรในเมือง เกษตรในอาคาร เกษตรแบบโมดูลาร์ การทำเกษตรแนวตั้งมาผนวกกับการบริการไว้ด้วยกัน
หมายถึง GSS จะปลูกผลผลิตที่ตอบโจทย์คนกิน ใช้ระบบฟาร์มขนาดเล็ก สามารถถอดประกอบได้ในร้านอาหาร ที่พักอาศัย ซูเปอร์มาร์เก็ต และพื้นที่เชิงพาณิชย์อื่นๆ มักมีระบบอัตโนมัติและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อควบคุมระยะไกลได้
การทำธุรกิจด้วยโมเดลธุรกิจแบบ GSS
อีกทั้งการทำธุรกิจด้วยโมเดลธุรกิจแบบ GSS หลากหลายด้าน จากบทความวิจัยเรื่อง ‘Growing-Service Systems: New Business Models for Modular Urban-Vertical Farming’ สามารถสรุปได้ 4 ข้อดังนี้
- มีความยั่งยืนในการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ลดการใช้น้ำและปุ๋ยในการเพาะปลูก
- ลดการใช้สารเคมีอันตราย เนื่องจากไม่ต้องใช้สารเคมีเพื่อกำจัดแมลง
- เพิ่มผลผลิตท้องถิ่น และลดระยะทางการขนส่ง
- เป็นตัวเชื่อมผู้บริโภคกับผู้ผลิตเข้าด้วยกัน เพราะสามารถปลูกผักตามความต้องการได้
นึ่งในตัวอย่างจากต่างประเทศ คือ โครงการ PlantLab ในเมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอแลนด์
PlantLab คือ ซูเปอร์มาร์เก็ตออนไลน์และผู้จัดส่งผักและผลไม้ขับเคลื่อนธุรกิจด้วยแนวคิด ‘Net Positive’ ที่ตั้งใจทำธุรกิจเพื่อคืนกำไรให้สังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจโลก
พวกเขาเริ่มจากการปลูกผักแบบดั้งเดิม ปรับตัวเข้ากับยุคสมัยมาเป็นการปลูกผักแนวตั้งในอาคารที่ควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น และแสง ใช้น้ำน้อยลงถึง 95 เปอร์เซ็นต์ และไม่มีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ใช้ หลอดไฟ LED ให้พืชสังเคราะห์แสง
มีสินค้าที่เป็นเจ้าผักใบเขียวหลากหลาย ทั้งผักสดและสมุนไพร โดยเน้นความสดใหม่ ทานได้ทันที และมุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่องต่อไป
GSS ถือเป็นแนวคิดธุรกิจใหม่ที่ทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงอาหารสดในท้องถิ่น และเป็นโอกาสทางธุรกิจใหม่สำหรับผู้ประกอบการด้านร้านอาหารสุขภาพ และเจ้าของฟาร์มยุคใหม่ที่จำเป็นต้องปรับตัวในวันที่โลกเปลี่ยนไป
เพราะยุคนี้ไม่สามารถทำธุรกิจแบบ One Size Fits All แต่ต้องทำธุรกิจที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคที่มีความต้องการแตกต่างกัน
อ้างอิง :
- https://plantlab.com/
- Martin, MariaJ.Bustamante. (2021). ‘Growing-Service Systems: New Business
Models for Modular Urban-Vertical Farming’. Journals Frontiers in Sustainable
Food Systems.
- www.cogistics.co.th/th/blog/knowledge/plantbased-%E0%B8%AD%E0%B8
- www.forbes.com/health/wellness/top-nutrition-and-fitness-trends-2024/
- www.nieuweoogst.nl/nieuws/2021/08/25/plantlab-breidt-indoor-farming-in-amsterdam-uit