Notifications

You are here

ห่วงโซ่คุณค่า

Recognition Technology เทคโนโลยีรู้จำ ลดรอยต่อและเ...

27 สิงหาคม 2024 26 อ่านข่าวนี้ 2 เดือนก่อน 0
แผนแม่บท : แผนแม่บท การท่องเที่ยว  
หมวดหมู่ : #05.5การท่องเที่ยวเชื่อมโยงภูมิภาค 

ตั๋วเครื่องบิน พาสปอร์ต เอกสารจองที่พัก และเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว คือ เอกสารมากมายที่นักท่องเที่ยวจำเป็นต้องมี เพื่อยืนยันตัวตนสำหรับการตรวจคนเข้าเมืองในอดีต แต่ยุคนี้ สนามบิน ที่พัก หรือสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ก็เริ่มนำเทคโนโลยีรู้จำหรือ Recognition Technology มาใช้เพื่อทำให้การท่องเที่ยวไร้รอยต่อและยังเป็นการเพิ่มความสะดวกสบายให้กับนักท่องเที่ยวด้วย

สะดวกสบายอย่างไร?

เหตุผลหลัก ๆ Recognition Technology จะช่วยจดจำใบหน้า รูม่านตา ลายนิ้วมือ เสียง และท่าทาง โดยในงานวิจัยเรื่อง Smart technology trends in the tourism and hospitality industry ของมหาวิทยาลัยอาหรับ ระบุไว้ว่า การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีรู้จำกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะช่วยเพิ่มความสะดวกสบายและเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทาง ยกตัวอย่างเช่น ใช้ลายนิ้วมือแทนกุญแจในห้องพักโรงแรม ใช้เทคโนโลยีจดจำใบหน้าในการเช็กอินขึ้นเครื่อง และตรวจคนเข้าเมือง หรือใช้เสียงในการสื่อสารแปลภาษา




เพราะเมื่อเป็นเทคโนโลยีก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า เทคโนโลยีมีความรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และแม่นยำ อีกทั้งยังเก็บข้อมูลเพื่อนำไปปรับปรุงการให้บริการของสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ได้ในอนาคต ถ้าพูดถึงกรณีตัวอย่างที่เป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของคนไทย อย่างเกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ก็จะทำให้เห็นว่า เทคโนโลยีรู้จำนั้นซ่อนอยู่ในสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ และเราอาจเห็นตั้งแต่วินาทีแรกที่ก้าวเท้าเข้าเมือง

เริ่มจาก ‘เกาหลีใต้’ 
เมื่อปี 2023 ที่สนามบินอินชอนมีการเปิดตัว ‘Smart Pass’ ที่ใช้ Recognition Technology ที่สนามบินและผ่านแอปพลิเคชัน ช่วยระบุตัวตนของผู้โดยได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพทั้งฝั่งขาเข้าและขาออก โดยไม่ต้องแสดงพาสปอร์ตหรือตั๋วเครื่องบิน โดยข้อมูลที่ลงทะเบียนไว้จะเก็บไว้เป็นเวลา 5 ปี และถึงแม้จะสะดวกสบาย แต่สนามบินอินชอนก็บอกว่า นักท่องเที่ยวยังจำเป็นต้องเผื่อเวลาสำหรับการเดินทาง 30 นาที และยังต้องพกพาสปอร์ตและตั๋วเครื่องบินไว้เสมอ ทั้งยังมีการทำ Smart Hotel ในโรงแรม Henn na Hotel Seoul Myeongdong เป็นโรงแรมแห่งแรกในโลกที่ใช้หุ่นยนต์ทำงาน และได้รับการรับรองจาก Guinness World Records กล่าวคือ ใช้หุ่นยนต์ช่วยเช็กอินและเช็กเอาต์ พูด และให้ข้อมูลที่เกี่ยวกับโรงแรม รวมถึงยังมีระบบให้ลงทะเบียนและรับกุญแจห้องพักอัตโนมัติ

ส่วน ‘ญี่ปุ่น’
ที่สนามบินเองก็มีการใช้ Recognition Technology เช่นเดียวกับเกาหลีใต้ แต่ถ้าตามสถานที่ท่องเที่ยว อย่างสถานที่ยอดฮิตอย่าง ‘ฟูจิ’ มีการนำ Recognition Technology ที่ชื่อว่า ‘NEC’ มาช่วยคัดกรองนักท่องเที่ยวจากเดิม 60 วินาที เหลือเพียง 10 วินาที ช่วยลดความแออัดในการตรวจสอบข้อมูลนักท่องเที่ยว และยังมีความแม่นยำ แม้ว่านักท่องเที่ยวจะสวมหน้ากากอนามัยก็ตาม และยังถูกนำมาใช้ในโรงแรม ยกตัวอย่างเช่น โรงแรมฮิลตัน (Hilton Hotels) ที่ตั้งอยู่ใจกลางโตเกียว เทคโนโลยีตัวนี้เข้ามาช่วยจัดการ รวมถึงดูแลเรื่องความปลอดภัย และการบริการ ในเรื่องการจัดการ Recognition Technology ในการดูความหนาแน่นของลานจอดรถเพื่อจัดสรรพนักงานรับส่งให้เหมาะสม และยังช่วยค้นหาวิดีโอเมื่อมีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ 

สำหรับความปลอดภัยและการบริการ Recognition Technology ช่วยติดตามพฤติกรรมพนักงาน สอดส่องบุคคลที่ถูกห้ามเข้าโรงแรมเพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของลูกค้า ขณะเดียวกันหากเกิดเหตุร้ายก็สามารถส่งวีดิโอไปยังบริษัทประกันหรือหน่วยงานกฎหมายได้ อีกทั้งยังจดจำสีและขนาดของกระเป๋า ช่วยค้นหาสัมภาระที่สูญหายได้ และยังจดจำแจก เพื่อพัฒนาการบริการที่น่าประทับใจ เช่น อาจทักทายด้วยชื่อ เป็นต้น

ที่ประเทศไทย เราอาจเห็น Recognition Technology ที่สนามบินสุวรรณภูมิลดขั้นตอนการเข้าและออกเมือง แต่ในเชิงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวภาพรวม อาจยังต้องศึกษาและค้นคว้าเพื่อให้ Recognition Technology ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้น แต่ก็หวังว่าสักวันหนึ่ง ประเทศไทยจะมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่จะเข้ามาลดรอยต่อการท่องเที่ยว เป็นประตูเปิดรับนักท่องเที่ยวทั่วโลกได้จริงในสักวันหนึ่ง


แหล่งอ้างอิง :

URL อ้างอิง:

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้คุกกี้ (Cookie) เพื่อใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพเว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ นโยบายคุกกี้
ยอมรับ