Notifications

You are here

ห่วงโซ่คุณค่า

+เที่ยวโดยไม่ทำร้ายโลก ผ่านกลยุทธ์การท่องเที่ยวเชิ...

02 กันยายน 2024 40 อ่านข่าวนี้ 3 เดือนก่อน 0
แผนแม่บท : แผนแม่บท การท่องเที่ยว  
หมวดหมู่ : #05.6การพัฒนาระบบนิเวศการท่องเที่ยว 


ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เรื่องของความยั่งยืนกลายเป็นสิ่งที่หลายอุตสาหกรรมให้ความสำคัญมากขึ้น เนื่องจากทุกภาคส่วนต่างตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เพราะได้รับผลกระทบอย่างหนักไม่ต่างกัน ทั้งต้องเผชิญกับสภาพอากาศแปรปรวน อุณหภูมิพุ่งทะยานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไปจนถึงภัยธรรมชาติที่ปรากฏผ่านหน้าสื่อไม่เว้นวัน 

การท่องเที่ยวเชิงยั่งยืน (Sustainable Tourism) จึงเป็นแนวทางที่หลายประเทศทั่วโลกได้นำมาปรับใช้เพื่อรักษาสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมท้องถิ่น แน่นอนว่าแต่ละประเทศย่อมมีกลยุทธ์แตกต่างกันไปตามบริบทและความต้องการของพื้นที่นั้น ๆ และนี่คือตัวอย่างกลยุทธ์การจัดการท่องเที่ยวเชิงยั่งยืนที่โดดเด่นจากนานาประเทศ


  1. นิวซีแลนด์ ส่งเสริมการท่องเที่ยวผ่านโครงการ Tiaki Promise (คำว่า Tiaki ในภาษาเมารี หมายถึง การดูแลและปกป้อง) เชิญชวนให้นักท่องเที่ยวเคารพต่อธรรมชาติและวัฒนธรรมท้องถิ่น พร้อมทั้งให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยวเกี่ยวกับวิธีการเดินทางอย่างยั่งยืน การจัดการขยะ และการรักษาธรรมชาติ รวมถึงการเคารพประเพณีของชาวเมารี ความสำเร็จของโครงการนี้ช่วยสร้างความตระหนักรู้ในหมู่นักท่องเที่ยว และส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบ
  2. สโลวีเนีย ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในด้านการท่องเที่ยวเชิงยั่งยืน ผ่านการรับรอง Green Scheme of Slovenian Tourism (GSST) เมืองและชุมชนต่าง ๆ ในสโลวีเนียที่ต้องการได้รับการรับรองต้องปฏิบัติตามมาตรฐานที่เคร่งครัด ส่งผลให้ในปี 2016 Ljubljana ได้รับการยกย่องเป็นเมืองหลวงสีเขียวของยุโรป (European Green Capital) และในปี 2023 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากเยอรมันและประเทศในกลุ่ม Visegrad เพิ่มขึ้นกว่า 30%
  3. คอสตาริกา มีการอนุรักษ์ธรรมชาติอย่างเข้มงวด ประมาณ 26% ของพื้นที่ทั้งหมดถูกสงวนไว้เป็นเขตอนุรักษ์ นอกจากนี้ยังมีโครงการ Certification for Sustainable Tourism (CST) สนับสนุนให้โรงแรมและบริษัททัวร์ปฏิบัติตามแนวทางการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยการจัดอันดับสถานประกอบการตามเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งให้ใบรับรองด้านการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน (Sustainable Tourism Certificate) แก่ธุรกิจที่ปฏิบัติตามมาตรฐาน ในปี 2023 คอสตาริกามีนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 1.7 ล้านคน หลังจากพัฒนาอุทยานแห่งชาติและเขตสงวน 
  4. มอนเตเนโกร เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ประสบความสำเร็จในการสนับสนุนการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน โดยเฉพาะอุทยานแห่งชาติ Skadar Lake ดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาประมาณ 400,000 คนต่อปี นอกจากนี้รัฐบาลยังมีแผนพัฒนาการท่องเที่ยว Montenegro's Sustainable Tourism Development Strategy เน้นการมีส่วนกับคนในชุมชน โดยมีการคาดการณ์ว่าการท่องเที่ยวจะมีส่วนช่วยเพิ่ม GDP ของประเทศถึง 10.3% ในปี 2024
  5. สเปน ใช้การท่องเที่ยวเชิงไวน์และอาหารเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน โดยเฉพาะในเส้นทางไวน์ (Wine Routes) มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 15% ต่อปี สร้างงานมากกว่า 50,000 ตำแหน่ง นอกจากนี้ยังมีโครงการ Biosphere Responsible Tourism สนับสนุนให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวในสเปนปฏิบัติตามแนวทางการท่องเที่ยวยั่งยืนและมีความรับผิดชอบต่อสังคม

ทั้งหมดนี้ คือกลยุทธ์การท่องเที่ยวจากนานาประเทศ ชี้ให้เห็นถึงศักยภาพของการท่องเที่ยวเชิงยั่งยืนสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยว สร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ประเทศได้โดยไม่ทำร้ายสิ่งแวดล้อม พร้อมกับดูแลโลกให้อยู่คู่มนุษย์ไปตราบนานเท่านาน



แหล่งอ้างอิง :

URL อ้างอิง:

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้คุกกี้ (Cookie) เพื่อใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพเว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ นโยบายคุกกี้
ยอมรับ