Notifications

You are here

ห่วงโซ่คุณค่า

นวัตกรรมฝังชิปเชื่อมต่อสมอง อนาคตแห่งวงการแพทย์

03 กันยายน 2024 44 อ่านข่าวนี้ 2 เดือนก่อน 0
แผนแม่บท : แผนแม่บท การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม  
หมวดหมู่ : #23.2การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ด้านสังคม 


การเชื่อมต่อสมองเข้ากับคอมพิวเตอร์ ต้องใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สื่อระบบประสาทแบบยืดหยุ่นได้ หรือ Flexible Neural Electronics ซึ่งเป็นเทคโนโลยีนำวัสดุที่ยืดหยุ่น สามารถโค้งงอ ยืด หรือบิดได้โดยไม่สูญเสียประสิทธิภาพการทำงาน เชื่อมต่อให้เข้ากับระบบประสาทของมนุษย์หรือสัตว์ วัสดุนี้ต้องสามารถติดตั้งและใช้งานในสภาพแวดล้อมที่ซับซ้อน เช่น บนผิวหนังหรือในเนื้อเยื่อสมอง เพื่อลดการเกิดรอยแผลและเพิ่มความแม่นยำ

อุปกรณ์นี้ได้ถูกพัฒนานำไปใช้งานในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งตลาดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบยืดหยุ่นทั่วโลกคาดว่าจะเติบโตจาก 29 พันล้านดอลลาร์ในปี 2022 เป็น 71.54 พันล้านดอลลาร์ภายในปี 2032 โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ 9.50% ซึ่งแสดงถึงความต้องการที่เพิ่มขึ้นสำหรับอุปกรณ์ที่มีความยืดหยุ่นและสามารถปรับตัวได้ในหลายอุตสาหกรรม นับเป็นนวัตกรรมที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์และการวิจัยทางประสาทวิทยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการรักษาโรคทางสมอง เช่น

  • โรคลมชัก
    ใช้ในการรักษาและตรวจสอบการทำงานของสมองในผู้ป่วยโรคลมชัก ช่วยในการควบคุมและลดอาการชัก
  • โรคพาร์กินสัน
    อุปกรณ์เหล่านี้สามารถใช้ในการกระตุ้นสมองส่วนลึก เพื่อช่วยลดอาการของโรคพาร์กินสัน
  • การฟื้นฟูการทำงานของสมองหลังจากการบาดเจ็บ
    ช่วยในการตรวจสอบและกระตุ้นการทำงานของสมองในระยะยาว
  • การควบคุมอวัยวะเทียม
    ใช้สื่อสารระหว่างสมองและอุปกรณ์เทียม ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมอวัยวะเทียมได้ดีขึ้น
  • การวิจัยและการรักษาโรคทางสมองอื่น ๆ
    เช่น โรคซึมเศร้าและความผิดปกติทางอารมณ์


Neuralink นวัตกรรมเชื่อมต่อสมองที่น่าจับตามอง

Neuralink ก่อตั้งโดย อีลอน มัสก์ ซึ่งอยู่ในแนวหน้าของการพัฒนาอินเทอร์เฟซสมองกับคอมพิวเตอร์ เพื่อเชื่อมต่อสมองมนุษย์เข้ากับคอมพิวเตอร์โดยตรง ซึ่งเทคโนโลยีหลัก คือ "The Link" เป็นชิปประสาทที่ฝังในสมองผ่านการผ่าตัด มีเป้าหมายในการถอดรหัสและกระตุ้นการทำงานของสมอง ทำให้ผู้ใช้สามารถควบคุมอุปกรณ์ดิจิทัลผ่านความคิดได้

The Link มีขนาดประมาณเหรียญและฝังอยู่ในกะโหลก ใช้เส้นด้ายที่บางและยืดหยุ่นได้ เพื่ออ่านกิจกรรมของเซลล์ประสาท เส้นด้ายเหล่านี้มีความละเอียดมากจนไม่สามารถใส่ด้วยมือได้ จำเป็นต้องใช้หุ่นยนต์ผ่าตัดเฉพาะทางสำหรับการฝังที่แม่นยำ

ในปี 2024 Neuralink ได้ฝังอุปกรณ์ในผู้ป่วยมนุษย์ที่เป็นอัมพาตได้สำเร็จ นอกจากนี้ยังมีการฝังอุปกรณ์ในผู้ป่วยรายที่สอง โดยการทดลองที่กำลังดำเนินอยู่มุ่งเป้าไปที่ผู้ที่มีอาการบาดเจ็บที่ไขสันหลัง


ความท้าทายของอุปกรณ์

  • ความทนทานและความเสถียร การพัฒนาอุปกรณ์ที่สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่องและเสถียรในระยะยาวยังคงเป็นความท้าทาย
  • ความปลอดภัย ต่อการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันและการยอมรับของร่างกายต่ออุปกรณ์เหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญ
  • ความซับซ้อนในการผลิต การผลิตอุปกรณ์ที่มีความยืดหยุ่นสูงและสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพต้องการเทคโนโลยีการผลิตที่ซับซ้อน

อย่างไรก็ตามอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สื่อระบบประสาทแบบยืดหยุ่นได้ ถือเป็นนวัตกรรมที่มีศักยภาพสูงในการเปลี่ยนแปลงวิธีการรักษาและวิจัยโรคทางระบบประสาท โดยเฉพาะในด้านการลดผลข้างเคียงในการรักษา แต่ทั้งนี้เมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว จึงจำเป็นต้องจัดการกับข้อกังวลด้านจริยธรรม และยังคงต้องวิจัยและพัฒนาเพื่อให้เกิดการใช้งานในวงกว้างอย่างมีประสิทธิภาพ


อ้างอิง :


URL อ้างอิง:

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้คุกกี้ (Cookie) เพื่อใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพเว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ นโยบายคุกกี้
ยอมรับ