Notifications

You are here

ห่วงโซ่คุณค่า

แชตบอตช่วยจัดการวิกฤตการท่องเที่ยว รับมือก่อนไปต่อ

04 ตุลาคม 2024 12 อ่านข่าวนี้ 1 เดือนก่อน 0
แผนแม่บท : แผนแม่บท การท่องเที่ยว  
หมวดหมู่ : #05.5การท่องเที่ยวเชื่อมโยงภูมิภาค 


            อาจเป็นเรื่องปกติที่บางครั้งการเดินทางที่เราวางแผนไว้ ก็อาจไม่เป็นไปตามที่เราคิด 

            เพราะด้วยสภาพอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกวัน ทั้งดินถล่ม แผ่นดินไหว น้ำท่วม หรือแม้แต่โรคระบาด และอย่างน้อยๆ ก็คือสภาพจราจรที่ติดขัด หรือระบบขนส่งขัดข้องก็อาจทำให้เราไม่สามารถไปถึงปลายทางได้ทันเวลา หรือต้องยอมถอดใจไปกลางทาง 

            แต่ในฐานะนักท่องเที่ยวที่ต้องเดินทางไปต่างบ้านต่างเมือง ก็คงต้องการระบบเตือนภัยที่จะทำให้พวกเขาเตรียมพร้อม รับมือ และเปลี่ยนแผนการเดินทางได้ทันท่วงที 

            หนึ่งในตัวช่วยสำคัญ ก็คือ การใช้แชตบอต (Chatbot) โปรแกรมที่ตอบโต้กับผู้ใช้ได้ทั้งรูปแบบข้อความและเสียง สามารถให้ข้อมูลและตอบคำถามผู้ใช้ได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ เสนอบริการที่หลากหลาย ช่วยจองบริการต่างๆ และยังนำเสนอข้อมูลและสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องได้ 

            ตามข้อมูลของ Salesforce ในปี 2019 ระบุว่า ลูกค้าธุรกิจ 80% และนักเดินทาง 64% คาดหวังว่าผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวจะตอบกลับตรงเวลา และผู้ให้บริการด้านการท่องเที่ยว 64% ใช้แชตบอตแก้ปัญหาที่ซับซ้อน โดย 80% เห็นด้วยว่าแชตบอตมีประสิทธิภาพมากกว่ามนุษย์ 

            เมื่ออยู่ในบริบทของการแก้ปัญหาเรื่องภัยพิบัติ แชตบอตจะดึงฐานข้อมูลมาช่วยให้ภาครัฐสามารถตอบสนองต่อปัญหาภัยพิบัติได้ทันเวลา ช่วยวิเคราะห์ข้อมูล เรียนรู้จากฐานข้อมูลสำคัญๆ เพื่อนำมาสื่อสารให้กับผู้ใช้นำไปประกอบการตัดสินใจ และยังแจ้งเตือนได้ด้วย อาจเป็นเพราะแชตบอตจะมีการเรียนรู้ตลอดเวลา ทำให้หายห่วงเรื่องความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ตรงหน้า และยังบอกวิธีปฏิบัติและป้องกันตัวเองในกรณีเกิดภัยพิบัติ อยู่ในภาวะฉุกเฉิน หรือต้องการความช่วยเหลือได้

            ที่ประเทศญี่ปุ่นเองก็มีการใช้ JAPAN Trip Navigator 2 ซึ่งเป็นแชตบอตที่พัฒนาขึ้นเพื่อเป็นตัวช่วยให้กับนักท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นการให้ข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว กิจกรรม และอีเวนต์ในพื้นที่ ทั้งยังสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ 24 ชั่วโมง ทำให้นักท่องเที่ยวสามารถวางแผนการเดินทางได้ และที่สำคัญ ‘ตอบเร็ว’ 

            ถึงแม้ว่าจะเป็นประโยชน์ แต่ก็ยังคงต้องมีการปรับปรุงให้ระบบมีความสมบูรณ์มากขึ้น เนื่องจากมีข้อจำกัดในเรื่องพื้นที่และความถูกต้องของข้อมูลบางครั้ง จึงจำเป็นต้องใช้เวลาในการพัฒนาระบบต่อไปในอนาคต 

            อีกหนึ่งตัวช่วย เมื่อนักท่องเที่ยวในประเทศญี่ปุ่นตกอยู่ในปัญหาภัยพิบัติ คือ การใช้ Telegram-based Chatbot ที่มีไว้สำหรับชาวต่างชาติที่ต้องการข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ฉุกเฉินในเวลาจริง ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้สามารถรับข้อมูลที่สำคัญและทันเวลาในกรณีเกิดภัยพิบัติได้ 




            สำหรับประเทศไทย ก็มีการเปิดใช้งาน Thai Disaster Alert แอปพลิเคชันจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่เปิดใช้งานตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2565 มีฟีเจอร์หลัก คือ การแจ้งเตือนภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง และสามารถดูปริมาณน้ำในเขื่อน หรือพื้นที่เสี่ยงได้ตลอด 24 ชั่วโมง แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นมีการตอบโต้จากแชตบอตเหมือนในประเทศญี่ปุ่น และยังคงเป็นเนื้อหาสำหรับภัยพิบัติมากกว่าการแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย 
            ชาวต่างชาติที่มาประเทศก็ยังคงต้องวางแผนด้วยตัวเอง หรืออาจให้ AI ช่วยวางแผนการเดินทางจากจุดหมายปลายทางที่พวกเขาคิดไว้เท่านั้น เพราะเมื่อถึงประเทศไทยแล้ว หากมีวิกฤตเกิดขึ้น พวกเขาคงทำได้เพียงเปิดสื่อออนไลน์ ประเมิน และออกเดินทางไปยังจุดหมายต่อไป




แหล่งอ้างอิง :
                            - Sharon Treesa Abraham, Bindu Vazhaakatte Thazhatheth. (2023). Tourism Disaster Management through Chatbots as an Alternative Tool of Communication. Journal of Tourism & Development. 349-367
                            - S. E. Ahmady and O, Uchida. (2020) "Telegram-Based Chatbot Application for Foreign People in Japan to Share Disaster-Related Information in Real-Time," 2020 5th International Conference on Computer and Communication Systems (ICCCS), Shanghai, China, 177-181
                            - www.unwto-tourismacademy.ie.edu/2024/05/crisis-management-tourism
                            - https://thailand.go.th/issue-focus-detail/001_04_054

URL อ้างอิง:

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้คุกกี้ (Cookie) เพื่อใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพเว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ นโยบายคุกกี้
ยอมรับ