Notifications

You are here

ห่วงโซ่คุณค่า

เศรษฐกิจหมุนเวียน จากผลิตแล้วทิ้งสู่การหมุนเวียนไม...

07 ตุลาคม 2024 15 อ่านข่าวนี้ 1 เดือนก่อน 0
แผนแม่บท : แผนแม่บท การเติบโตอย่างยั่งยืน  
หมวดหมู่ : #18.4การจัดการมลพิษที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสารเคมีในภาคเกษตรทั้งระบบให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล 


            ก่อนคำว่า เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) จะเป็นที่รู้จักในวงกว้างอย่างในปัจจุบัน โลกของเราเคยถูกการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจทำร้ายมาโดยตลอด เรียกว่าเป็นรูปแบบการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเส้นตรง (Linear Economy) คือ ‘ผลิต-ใช้-ทิ้ง’ ทรัพยากรถูกนำมาผลิตสินค้า ใช้งาน และกลายเป็นขยะปริมาณมหาศาล ตรงกันข้ามกับเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มุ่งเน้นการ ‘ผลิต-ใช้-นำกลับมาใช้ใหม่’ โดยออกแบบให้วัสดุและผลิตภัณฑ์สามารถหมุนเวียนกลับเข้าสู่ระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การรีไซเคิล การนำสินค้าที่ใช้แล้วกลับมาซ่อม และการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้น

            ด้วยเหตุนี้สหภาพยุโรปจึงได้มีนโยบาย กฎระเบียบและการปฏิวัติโมเดลธุรกิจ จากเศรษฐกิจเส้นตรง ไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อให้โลกของเราไม่บอบช้ำไปมากกว่านี้ ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนไม่ได้ส่งผลดีแค่ด้านทรัพยากรหรือสิ่งแวดล้อมเพียงเท่านั้น แต่ยังช่วยกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวตั้งแต่ท้องถิ่นไปจนถึงระดับประเทศ เพิ่มการจ้างงาน และนวัตกรรมใหม่ ๆ ตัวอย่างเช่น สหภาพยุโรปคาดการณ์ว่าการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพจะสร้างมูลค่าถึง 1.8 ล้านล้านยูโรภายในปี 2030 ส่งผลให้คุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น เมื่อเศรษฐกิจดีนักลงทุนจากต่างแดนย่อมเล็งเห็นถึงศักยภาพ นำมาสู่เม็ดเงินจำนวนมหาศาลที่จะหมุนเวียนอยู่ในกลุ่มประเทศที่ใส่ใจเรื่องความยั่งยืนโดยไม่มีที่สิ้นสุด 

ประเทศที่นำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ได้อย่างโดดเด่น ได้แก่

           1) เนเธอร์แลนด์ เริ่มเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนตั้งแต่ปี 2016 สามารถดึงดูดการลงทุนกว่า 7.3 พันล้านยูโร และได้ต่อยอดให้ยั่งยืนมากยิ่งขึ้นผ่าน Roadmap ว่าจะทำให้เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างสมบูรณ์ในปี 2050 ขณะที่ในเมืองใหญ่ของประเทศอย่างอัมสเตอร์ดัม ก็มีแผนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจหมุนเวียน (Amsterdam Circular 2020-2025 Strategy) โดยมีเป้าหมายที่จะทำให้อัมสเตอร์ดัมมีการใช้พลังงานหมุนเวียนถึง 50% ภายในปี 2030 และครอบคลุมทั้งเมืองภายในปี 2050 

            ตัวอย่างการเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนของเนเธอร์แลนด์ ได้แก่ การลดขยะอาหาร ส่งเสริมการรีไซเคิล เพิ่มการซ่อมแซม ลดการใช้ทรัพยากร รวมถึงการสร้างอาคารแบบหมุนเวียน ลดการปล่อยคาร์บอน และส่งเสริมการสร้างงานใหม่ในสาขาที่เกี่ยวข้อง




            2) ญี่ปุ่น เป็นประเทศที่เผชิญหน้ากับภัยพิบัติมานับครั้งไม่ถ้วน พวกเขาจึงมีแนวคิดอย่าทิ้งสิ่งที่มีค่าหรือน่าเสียดาย (mottainai - もったいない) โดยมีพระราชบัญญัติเพื่อการสร้างสังคมแห่งการหมุนเวียนทรัพยากร (The Basic Act for Establishing a Sound Material-Cycle Society) บังคับใช้ในปี 2000 ซึ่งช่วยลดขยะฝังกลบลงถึง 77%
จาก พ.ร.บ. ฉบับนี้ส่งผลให้ประเทศญี่ปุ่นมีอัตราการรีไซเคิลสูงถึง 80% ในหลายอุตสาหกรรม ตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ พบว่าการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์และการนำวัตถุดิบกลับมาใช้ใหม่ สามารถลดการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต มีการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 0.6% ต่อปี สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 8 ล้านล้านเยนต่อปีจากอุตสาหกรรมรีไซเคิล
            3) เดนมาร์ก ประเทศแห่งการออกแบบเพื่อความยั่งยืน ตัวอย่างเมืองนำร่อง ได้แก่ โคเปนเฮเกน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 42% ตั้งแต่ปี 2005 นอกจากนี้ยังมีแนวทางปฏิบัติตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Strategy for Circular Economy) โดยตั้งเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 70% ภายในปี 2030 เพิ่มอัตราการรีไซเคิลขยะในครัวเรือนเป็น 65% ภายในปี 2035 รวมถึงยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในระบบไฟฟ้าถาวร ภายในปี 2050  ไม่ใช่แค่แนวทางปฏิบัติเท่านั้นที่เดนมาร์กวางไว้ หากแต่ยังมีการสนับสนุนผู้ประกอบการที่หันมาคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างเช่น สนับสนุนโมเดลธุรกิจแบบแบ่งปัน (Sharing Economy) และมุ่งเน้นไปที่การให้บริการแทนการขายผลิตภัณฑ์ รวมถึงจัดตั้งกองทุนนวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียนมูลค่า 16 ล้านยูโร เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ จากโมเดลดังกล่าวสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 0.8-1.4% ของ GDP หรือประมาณ 3-5.6 พันล้านยูโรต่อปี 
            4) เยอรมนี จากการนำแผนเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรของเยอรมนี (ProgRess) มาใช้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2012 ทำให้เยอรมนีเป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ของโลกที่กำหนดเป้าหมาย หลักการ และแนวทางในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และได้ทำการปรับปรุงแผนใหม่ทุกครั้งเมื่อครบกำหนด 4 ปี 
แผนดังกล่าวมีมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ตั้งแต่การนำทรัพยากรจากต้นทางมาใช้ การออกแบบผลิตภัณฑ์ ไปจนถึงการผลิต การใช้งาน และใช้ซ้ำในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนให้ได้ 30% ภายในปี 2030 อีกทั้งยังช่วยเพิ่มการจ้างงานกว่า 309,000 ตำแหน่ง และประหยัดต้นทุนวัตถุดิบในภาคการผลิตได้ถึง 3.4 พันล้านยูโรต่อปี
            5) สิงคโปร์ จัดทำแผนแม่บทสิงคโปร์ปลอดขยะ (Zero Waste Masterplan) เมื่อปี 2019 โดยมีเป้าหมายครอบคลุมด้านสิ่งแวดล้อม จัดสรรทรัพยากรบนเกาะให้คุ้มค่ามากที่สุด ตั้งแต่การจัดการน้ำ การจัดการขยะ มาตรฐานด้านสาธารณสุข และการเตรียมการให้เป็นศูนย์กลางด้านการเงินสีเขียวในภูมิภาคเอเชียและทั่วโลก ไปจนถึงส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีตรวจจับคาร์บอน 
            เป้าหมายของแผนแม่บทฉบับนี้ในด้านการจัดการขยะ ระบุว่า สิงคโปร์จะเพิ่มอัตราการรีไซเคิลขยะจาก 59% เป็น 70% และลดปริมาณขยะฝังกลบลง 30% คาดว่าจะประหยัดค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะได้ 1.5 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ภายในปี 2030 แต่หลังจากขับเคลื่อนมาได้ระยะหนึ่ง สิงคโปร์พบปัญหาตามมาคือ อัตรารีไซเคิลของประเทศลดลง 62% จากปี 2013 เหลือ 52% ในปี 2023 เพราะประชาชนสร้างขยะน้อยลง สำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งชาติสิงคโปร์จึงต้องออกมาเรียกร้องให้ประชาชนนำขยะมารีไซเคิลมากขึ้น เพื่อนำพาประเทศให้เข้าใกล้เศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างสมบูรณ์ในเร็ววัน
            ทั้งหมดนี้คือตัวอย่างประเทศที่ทั้งใกล้และไกลจากไทย เพื่อให้เห็นว่าพวกเขาเริ่มมีการขยับทำอะไรบางอย่างเพื่อโลกแล้ว และประเทศเหล่านี้กำลังแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจหมุนเวียนไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่ยังเป็นโมเดลที่สร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้อย่างแท้จริง




แหล่งอ้างอิง :
                        - Circle Economy and the City of Amsterdam. (2020). Amsterdam Circular 2020-2025 Strategy. Retrieved, https://carbonneutralcities.org/wp-content/uploads/2020/06/Amsterdam-Circular-2020-2025_Strategy_HighRes.pdf
                        - International Energy Agency (IEA) . (2024, March 26). German Resource Efficiency Programme (ProgRess). Retrieved, https://origin.iea.org/policies/16956-german-resource-efficiency-programme-progress
                        - World Economic Forum. (2019, August 16). The Japanese have a word to help them be less wasteful – 'mottainai'. Retrieved, www.weforum.org/agenda/2019/08/the-japanese-have-a-word-to-help-them-be-less-wasteful-mottainai/?fbclid=IwY2xjawFTbeRleHRuA2FlbQIxMAABHQZ_-XiU3t0W0zwB9P2TjoKr8AVtLC9FyU_TVN4Tft2ntoL1oMxB0vHXFw_aem_YVh5pPSliywCAy4O2GtujA
                        - xinhuathai. (2024, June 20). สิงคโปร์เผยอัตรา ‘รีไซเคิลขยะ’ ลดลงในรอบทศวรรษ, www.xinhuathai.com/inter/444816_20240620
                        - วาสนาดำรงดี, ส. (2022, April 18). บทความ: เรียนรู้ความพยายามของสิงคโปร์ในการจัดการขยะอย่างยั่งยืน – จากเตาเผาสู่การลดขยะที่ต้นทาง, https://ej.eric.chula.ac.th/article/view/334
                        - ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC) สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์. (n.d.). แผนสิงคโปร์สีเขียว (SGP) 2030, https://thaibizsingapore.com/singapore/green-plan/
                        - สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย. (2022, October 22). "เดนมาร์ก” ประเทศแห่งพลังงานหมุนเวียน ที่โครงข่ายไฟฟ้ามีเสถียรภาพมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก, https://globalcompact-th.com/green-power-denmark
                        - สิมาฉายา, ด. (2024, July 7). เศรษฐกิจหมุนเวียน กู้วิกฤติเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม: บทเรียนจากเยอรมนี, www.bangkokbiznews.com/environment/1134738

URL อ้างอิง:

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้คุกกี้ (Cookie) เพื่อใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพเว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ นโยบายคุกกี้
ยอมรับ