Notifications

You are here

ห่วงโซ่คุณค่า

Circular Amsterdam ยกระดับเมืองสู่ความยั่งยืนด้วยเ...

15 มกราคม 2025 10 อ่านข่าวนี้ 3 สัปดาห์ก่อน 0
แผนแม่บท : แผนแม่บท พื้นที่และเมือง น่าอยู่อัจฉริยะ  
หมวดหมู่ : #6.1การพัฒนาเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ 


‘อัมสเตอร์ดัม’ เสน่ห์ทางศิลปะและประวัติศาสตร์และ  ‘เมืองหลวงจักรยานโลก’ 

‘อัมสเตอร์ดัม’ เมืองหลวงของประเทศเนเธอแลนด์ มีพื้นที่เพียง 220 ตร.กม. มีประชากรประมาณ 1 ล้านคน แต่ด้วยเสน่ห์ของเมืองทำให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศปีละประมาณ 20 ล้านคน

อาจเป็นเพราะเป็นเมืองหลวงที่ติดริมแม่น้ำอัมสเทลเต็มไปด้วยเสน่ห์ทางศิลปะและประวัติศาสตร์และยังได้ชื่อว่าเป็น ‘เมืองหลวงจักรยานโลก’ เพราะวิถีชีวิตของผู้คนที่นี่ผูกพันกับการปั่นจักรยานเป็นพาหนะหลัก แทนการใช้รถยนต์หรือระบบขนส่งอื่นๆ   

ต่างคนต่างที่มา ขยะในเมืองก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อัมสเตอร์ดัมมีขยะครัวเรือนเฉลี่ยต่อปีที่ 246.1 กิโลกรัมต่อคน และขยะอื่นๆ ประมาณ 56.4 กิโลกรัมต่อคน ซึ่งถือว่าสูงกว่าภูมิภาคอื่นของประเทศ เนื่องจากระบบจัดการขยะในอัมสเตอร์ดัมยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร จากการแยกขยะที่ต่ำ ทำให้ขยะถึง 66% ถูกนำไปเผา ส่งผลให้เกิดมลพิษมากขึ้นและค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ซึ่งทำให้ชาวอัมสเตอร์ดัมต้องจ่ายภาษีการจัดการขยะถึง 459 ยูโร สูงกว่าพื้นที่อื่นๆ

'อัมสเตอร์ดัม' สู่แผนปฏิบัติการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy Action Plan) 

ปี 2015 มีการผุดโครงการ ‘แผนปฏิบัติการเศรษฐกิจหมุนเวียน’ (Circle Scan Amsterdam) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของอัมสเตอร์ดัมในการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนจนนำมาสู่แผนปฏิบัติการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy Action Plan) ซึ่งเป็นแผนแม่บทในการทำงานผลักดันให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนได้จริงในปัจจุบัน

ความหมายของเศรษฐกิจหมุนเวียน

เศรษฐกิจหมุนเวียนที่ว่าก็คือ การนำวัตถุดิบและวัสดุต่างๆ กลับมาใช้ใหม่ เพื่อลดขยะและปิดวงจรการผลิต โดยการรักษามูลค่าของวัตถุดิบตั้งแต่การออกแบบจนถึงการทิ้ง ไม่ว่าจะเป็นการลดการใช้ การนำกลับมาใช้ใหม่ การซ่อมแซม และการรีไซเคิล เพื่อลดขยะและยืดอายุการใช้งานของผลิตภัณฑ์ให้ยาวนานที่สุด

ความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนในการขับเตลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน

โครงการนี้มีการถกเถียงและพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ระหว่างปี 2016 ถึง 2018 แล้วก็เริ่มทำงานขับเคลื่อนจริงจัง โดยได้เริ่มดำเนินโครงการ 70 โครงการ โดยบริษัท องค์กรวิจัย และเทศบาลเอง และดูเหมือนว่าทุกอย่างจะเป็นไปในทิศทางที่ดี

ขณะที่ในปี 2020 อัมสเตอร์ดัมมีเป้าหมายในการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยใช้โมเดล ‘โดนัท’ (Doughnut Model) ซึ่งประกอบด้วย 2ส่วนหลัก

  1. ส่วนในของโดนัท แสดงถึงขีดจำกัดต่ำสุดที่จำเป็นสำหรับการมีชีวิตที่ยั่งยืนและเสมอภาคในสังคม เช่น รายได้ งาน สุขภาพ เครือข่ายสังคม และการมีส่วนร่วมทางการเมือง
  2. ส่วนภายนอกของโดนัท แสดงถึงขีดจำกัดทางนิเวศน์ที่ไม่ควรเกิน เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มลพิษไนโตรเจน และการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ

ข้อมูลล่าสุดจากแผนการดำเนินงานอัมสเตอร์ดัม 2023-2026 มีการวางแผนที่จะดำเนินการมากกว่า 70 กิจกรรมร่วมกับพลเมือง ทั้งผู้ประกอบการ หน่วยงานทางสังคม และประชาชน โดยมีงบประมาณกว่า 14 ล้านยูโร ซึ่ง 3.5 ล้านยูโร จะใช้ในการเปลี่ยนแปลงระบบเพื่อให้บริษัทต่างๆ สามารถดำเนินงานในรูปแบบเศรษฐกิจหมุนเวียนได้ โดยจะมุ่งเน้นที่สินค้าผู้บริโภค สภาพแวดล้อมที่สร้างขึ้น และการจัดการขยะอาหารและขยะอินทรีย์

การจะขับเคลื่อนงานที่ใหญ่ขนาดนี้ เมืองอัมสเตอร์ดัมจะทำเพียงฝ่ายเดียวก็คงไม่ได้ ดังนั้นเมืองอัมสเตอร์ดัมจึงร่วมมือกับรัฐบาลเนเธอร์แลนด์และสหภาพยุโรปในการเลือกนโยบายที่จะทำให้โลกสะอาดและสังคมมีความเท่าเทียมกัน ทำงานร่วมกับทั้ง 7 เขตเมือง โครงการท้องถิ่น ตลาด สถาบันวิจัย และประชาชน เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงนี้ไปด้วยกัน 

ผู้มีบทบาทสำคัญในการสร้างอัมสเตอร์ดัม ให้พร้อมรับนักท่องเที่ยวจากทั่วมุมโลก 

เมือง ธุรกิจ และประชาชนต่างเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างเมืองอัมสเตอร์ดัมที่สะอาดและพร้อมเปิดรับนักท่องเที่ยวทั่วมุมโลก 

  • บทบาทของเมือง
    เมืองอัมสเตอร์ดัมเป็นตัวอย่างในการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน ด้วยการดูแลพื้นที่สาธารณะ ส่งเสริมความร่วมมือ และกำหนดมาตรฐานสำหรับการเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังช่วยเหลือกลุ่มที่ยังปรับตัวไม่ได้ให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลง
  • บทบาทของธุรกิจ
    ธุรกิจต้องพัฒนานวัตกรรม เช่น โมเดล ‘Product as a Service’ ที่ผู้ผลิตรับผิดชอบผลิตภัณฑ์หลังใช้งาน และออกแบบสินค้าที่ถอดประกอบหรือรีไซเคิลได้ง่าย พร้อมทั้งจัดการของเสียอย่างมีประสิทธิภาพ
  • บทบาทของประชาชน
    ประชาชนมีส่วนร่วมโดยเลือกซื้อสินค้าอย่างมีจิตสำนึก บริโภคอาหารท้องถิ่น และแยกขยะอย่างเหมาะสม เมืองยังสนับสนุนให้ประชาชนเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อสร้างความยั่งยืนในระยะยาว

โดยเมืองอัมสเตอร์ดัมตั้งเป้าหมายให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการปลูกผักและผลิตอาหารในพื้นที่ของตนเองภายในสิ้นปี 2021 และสนับสนุนให้ลดการใช้วัสดุใหม่ลง 50% ภายในปี 2030 และทำให้เมืองมีเศรษฐกิจหมุนเวียนเต็มรูปแบบ 100% ภายในปี 2050 ซึ่งได้ดำเนินการหลายโครงการ เช่น การจัดซื้อที่หมุนเวียน 10% ในปี 2022 และการใช้การประมูลหมุนเวียนในโครงการก่อสร้างต่างๆ ในปี 2023

เมืองอัมสเตอร์ดัมแสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ต้องการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ยั่งยืน ด้วยการผนึกกำลังจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ธุรกิจ และประชาชน ที่ร่วมมือกันสร้างเมืองที่คนอยู่ ท่องเที่ยว และเติบโตไปพร้อมกัน

'ไทย' กับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน และปัญหาขยะล้นโลก 

สำหรับประเทศไทย กรุงเทพมหานครเองมีนโยบาย ‘ไม่เทรวม’ ซึ่งได้รับกระแสตอบรับดีจากประชาชน  เนื่องจากปริมาณขยะปี 2566 ลดลงจากปี 2565 เฉลี่ย 204 ตันต่อวัน ลดค่าใช้จ่าย เป็นเงิน 387,600 บาทต่อวัน หรือ 74,460 ตันต่อปี ลดค่าใช้จ่าย เป็นเงิน 141,474,000 บาทต่อปี 

หรือในภาคธุรกิจเอง SCG นำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ในการแก้ปัญหาขยะล้นโลก โดยมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และหมุนเวียนสินค้าที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ แนวทาง SCG Circular Way ร่วมมือกับพันธมิตรในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น โครงการใช้พลาสติกรีไซเคิลในการสร้างถนนและผลิตวัสดุก่อสร้างใหม่ จากการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน ลดผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม


ไม่ว่าจะอัมสเตอร์ดัม กรุงเทพมหานครหรือเมืองไหนๆ การขับเคลื่อนงานสิ่งแวดล้อมคงไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง หากคนในเมืองยังคงไม่เห็นความสำคัญและไม่หันหน้ามาร่วมมือกัน ...เพราะเพียงการกระทำเล็กๆ ก็สามารถการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้


ข้อมูลอ้างอิง :

  • City of Amsterdam. (2020). Amsterdam Circular 2020-2025: Public Version. Amsterdam: Municipality of Amsterdam.
  • https://amsterdamsmartcity.com/updates/project/circle-scan-amsterdam
  • https://circularplace.fr/en/amsterdam-the-worlds-first-circular-city/
  • https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9660000104961
  • www.amsterdam.nl/en/policy/sustainability/circular-economy/
  • www.circularcityfundingguide.eu/case-studies/amsterdam-adding-the-doughnut-to-the-circular-economy/
  • www.hollandtimes.nl/2023-edition-6-august/municipality-of-amsterdam-is-fighting-litter-problems/#:~:text=Newspaper%20Het%20Parool%20reported%20in,865%20GFT%20(organic%20waste).
  • www.scg.com/sustainability/circular-economy/
  • www.tnnthailand.com/news/world/166649/

  


URL อ้างอิง:

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้คุกกี้ (Cookie) เพื่อใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพเว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ นโยบายคุกกี้
ยอมรับ