การตลาดที่ประสบความสำเร็จต้องดึงดูดผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด กลยุทธ์ Gamification Marketing จึงได้รับความสนใจอย่างมาก เพราะการเล่นเกมเป็นเทคนิคการออกแบบกิจกรรมหรือแคมเปญทางการตลาดที่ช่วยดึงดูดความสนใจของลูกค้าท่ามกลางความท้าทายในการรักษาความสนใจของลูกค้าที่นับวันมีแต่จะยากขึ้น
Gamification Marketing คืออะไร
Gamification Marketing คือ การนำหลักการ องค์ประกอบ และเทคนิคในเกมมาประยุกต์ใช้ในการวางกลยุทธ์การตลาดของธุรกิจ เพื่อสร้างความสนใจ แรงจูงใจ กระตุ้นให้ซื้อสินค้าหรือบริการเพิ่มขึ้น โดยอาศัยความปรารถนาของมนุษย์ ทั้งการได้รับการยอมรับและความสำเร็จเป็นตัวขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมของผู้บริโภคและความภักดีในแบรนด์ ผ่านการให้รางวัลในเกมที่เป็นที่นิยมอย่างคะแนน เหรียญ เป็นต้น
ทำไม Gamification Marketing ถึงเป็นที่นิยม
- ความผูกพันกับการเล่นเกม ไม่ว่าจะวัยไหนการเล่นเกมยังเป็นที่ชื่นชอบ จะเล่นแบบต่อหน้า ผ่านเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันต่างๆ เกมก็ยังคงสร้างความสนุกและดึงดูดให้คนร่วมกิจกรรมทางการตลาดได้ไม่ยาก
- การได้เป็นผู้ชนะ การได้รางวัล การได้คะแนนสะสม เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการ ซึ่งเป็นแรงกระตุ้นอย่างดีที่ขับเคลื่อนให้ผู้บริโภคตอบสนองต่อกิจกรรมทางการตลาดอย่างรวดเร็ว
- รู้สึกสนุกและตื่นเต้น ที่ได้เล่นเกมต่างๆ ยิ่งถ้ามีรางวัลยิ่งเป็นประสบการณ์ที่น่าสนใจ ยิ่งได้ลุ้นมากเท่าไรยิ่งสนุก กิจกรรมที่มีลักษณะเล่นเกมจึงเป็นที่นิยมและทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักมากขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว
องค์ประกอบของ Gamification Marketing มีอะไรบ้าง
- เป้าหมายและวัตถุประสงค์
ต้องสอดคล้องกับกลยุทธ์การตลาด ชัดเจน ท้าทาย ชวนให้ผู้บริโภคอยากร่วมกิจกรรม เพิ่มยอดขาย เพิ่มการรับรู้แบรนด์ - กฎและกติกา
ทุกเกมย่อมมีกติกาและมีกฎให้ผู้เล่นปฏิบัติตาม ระวังอย่าให้มีช่องโหว่และต้องไม่มีการเปลี่ยนแปลงในภายหลัง - ระดับและความก้าวหน้า
เมื่อเล่นเกมถึงระดับที่สูงขึ้นต้องได้รับการยอมรับหรือได้รับรางวัลในเกมเพื่อแสดงถึงการเติบโตและส่งผลให้มีปฏิสัมพันธ์กับแบรนด์ต่อเนื่องในระยะยาว สร้างความสนุกตื่นเต้นได้ดี - คะแนน
รากฐานสำคัญของประสบการณ์เล่นเกม ยิ่งมีคะแนนมากและนำไปใช้สิทธิประโยชน์ได้มาก ยิ่งทำให้ผู้บริโภคอยากเล่นเกมเพื่อสะสมหรือเพิ่มคะแนน เพราะรู้สึกถึงความสำเร็จ สร้างการมีส่วนร่วมแบบไม่รู้จบ - เวลา
การกำหนดระยะเวลาในการเล่นเกมมีส่วนสำคัญที่ทำให้ลูกค้าเกิดความสนใจและกระตือรือร้นในการทำกิจกรรมตามเวลาที่แบรนด์กำหนด ยิ่งถ้ารางวัลน่าสนใจยิ่งดึงดูดผู้บริโภคมากขึ้นเท่านั้น - รางวัล
เป็นเป้าหมายและความสำเร็จในการเล่นเกมของผู้บริโภค เพราะเมื่อบรรลุเป้าหมายหรือเสร็จภารกิจ เช่น มียอดซื้อตามจำนวนที่กำหนด เช็กอินครบทุกตำแหน่ง เข้าร่วมกิจกรรมของแบรนด์ ฯลฯ แต่รางวัลต้องทำให้ผู้บริโภคสนใจและคุ้มค่าในการเล่นเกมหรือทำกิจกรรมของแบรนด์ - การจัดอันดับ
มีผลอย่างมากในการกระตุ้นความพยายามและความอยากเป็นผู้นำ ยิ่งจัดสรรรางวัลที่แตกต่างกัน ยิ่งทำให้เกิดการเปรียบเทียบนำไปสู่การมีส่วนร่วมและโต้ตอบกับแบรนด์ โดยเฉพาะกิจกรรมที่รางวัลคือการได้ใกล้ชิดคนดังและเป็นที่ชื่นชอบในระดับสากลจะได้รับความนิยมมากเป็นพิเศษ - สร้างทีม
ช่วยเพิ่มประสบการณ์ร่วมและการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ทำให้แบรนด์ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น เกิดการแบ่งปันประสบการณ์จากการทำกิจกรรม นำไปสู่การติดตามแบรนด์เพิ่มขึ้น - เสริมแรงด้วยข้อความตอบรับ
ทั้งการแสดงความยินดีกับความสำเร็จ การกระตุ้นให้ทำกิจกรรมทุกวัน การขอบคุณที่ร่วมกิจกรรม ส่งผลให้ผู้บริโภคร่วมกิจกรรมต่อเนื่องและสร้างการจดจำแบรนด์แบบสม่ำเสมอ
Gamification Marketing มีกี่ประเภท
ประเภท | จุดเด่น |
1. Transmedia | เน้นเล่าเรื่องราว
กลุ่มเป้าหมายคือผู้ใช้ที่มีประสบการณ์และมีความสัมพันธ์กับแบรนด์หรือผลิตภัณฑ์มาก่อน |
2. Brandification | ใช้เกมหรือกิจกรรมที่เน้นสร้างความรู้สึกต่อแบรนด์หรือผลิตภัณฑ์
สร้างความสนใจและสร้างความประทับใจ |
3. Advergame | เกมที่ทำขึ้นเพื่อรวมการโฆษณาและทำการตลาดสินค้าหรือบริการในครั้งเดียว
ช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือ |
4. Alternate Reality Games | เกมทางเลือกที่ผสมผสานระหว่างโลกความเป็นจริงและโลกเสมือน
ผู้เล่นต้องใช้ความคิดและการทำงานร่วมกันเพื่อแก้ปริศนาหรือแก้ปัญหาในเกม |
5. Experiential Marketing | เน้นสร้างประสบการณ์ที่น่าจดจำและมีความหมาย
ผ่านเกมหรือกิจกรรมที่ต้องเข้าสังคม แลกเปลี่ยนประสบการณ์
หรือทดลองสินค้าหรือบริการ |
Gamification Marketing มีขั้นตอนอย่างไร
- วางกลุ่มเป้าหมาย
- วัดความสำเร็จทางการตลาด
- สำรวจ วิเคราะห์ วางแผนทำ Gamification
- ออกแบบเกมตามหลักการ Gamification
- วัดผล ประเมิน พัฒนา ปรับปรุงให้ดีขึ้นต่อไป
ประโยชน์ของ Gamification Marketing
- สร้างประสบการณ์ที่ดีนำไปสู่ Brand
Loyalty
- รักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง
- เพิ่มโอกาสและกระตุ้นยอดขายสินค้าและบริการ
- สร้าง Brand Awareness ได้ดียิ่งขึ้น
- มีข้อมูลผู้บริโภคเชิงลึกเพื่อนำไปวิเคราะห์การตลาดในอนาคต
- พัฒนาสินค้าและบริการให้ตอบโจทย์ความต้องการแท้จริง
- สร้างความแตกต่างจากคู่แข่งเพิ่มโอกาสในการแข่งขัน
ตัวอย่าง Gamification Marketing
แบรนด์ที่ใช้กลยุทธ์ Gamification Marketing และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี อาทิ Starbucks Rewards เก็บสะสมคะแนนเป็นดวงดาวทุกครั้งที่ซื้อเพื่อแลกรางวัลต่างๆ ผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือ สร้างการมีส่วนร่วมและความภักดีในแบรนด์ โดยแต่ละคนจะมีรางวัลพิเศษหรือเงื่อนไขแตกต่างกันในบางสิทธิประโยชน์ ช่วยเพิ่มยอดขายและการมีส่วนร่วมได้เป็นอย่างดี Nike Run Club มีการให้รางวัลด้วยความสำเร็จและเหรียญตราเสมือนเมื่อบรรลุเป้าหมาย เช่น การวิ่งครบจำนวนที่กำหนด บรรลุเป้าหมายระยะทางใหม่ มีแผนการฝึกเฉพาะบุคคลเมื่อทำได้จะปลดล็อกความท้าทายใหม่ๆ มีการแบ่งปันความสำเร็จบนโซเชียลมีเดีย มีการจัดอันดับ มีรางวัลและสิ่งจูงใจต่างๆ ทำให้ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เป็นต้น
แม้ Gamification Marketing จะได้รับความนิยมแต่แบรนด์ต่างๆ ก็ต้องมีความรับผิดชอบในการนำมาใช้และมุ่งเน้นที่ผู้บริโภคเป็นสำคัญ ควรเข้าถึงได้ง่ายทุกเพศทุกวัย ไม่ใช้กลยุทธ์การเล่นเกมที่กดดัน บิดเบือน หรือบังคับให้มีส่วนร่วม มีความชัดเจน โปร่งใส ข้อมูลของผู้บริโภคปลอดภัยในทุกการเข้าร่วมกิจกรรม สร้างสมดุลระหว่างความสนุกและการมีส่วนร่วมอย่างเหมาะสม หากนำไปสู่การเรียนรู้ พัฒนา และต่อยอดในการใช้ชีวิตย่อมเป็นเกมทางการตลาดที่มีประสิทธิภาพสูงสุด
ข้อมูลอ้างอิง :
- abmatic.ai/blog/benefits-of-gamification-in-growth-marketing
- brame.io/blog/gamification-marketing/
- talkatalka.com/blog/what-is-gamification-marketing/
- www.hurix.com/what-is-gamification-in-marketing-how-to-use-gamification-to-boost-your-marketing-campaigns/
- www.nudgenow.com/blogs/future-of-gamification-trends
- www.rocket.in.th/blog/what-is-gamification/
URL อ้างอิง: