CCS เทคโนโลยีดักจับกักเก็บคาร์บอนช่วยลดโลกร้อน
เทคโนโลยีที่นำมาช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในหลายประเทศที่น่าจับตามอง คือเทคโนโลยีดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage) หรือ CCS ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อป้องกันการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าสู่ชั้นบรรยากาศในปริมาณมาก ช่วยลดภาวะโลกร้อนอย่างมีประสิทธิภาพ
‘เทคโนโลยี CCS ถูกนำมาใช้ครั้งแรกในปี 1972 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีโรงงานก๊าซธรรมชาติหลายแห่งในรัฐเท็กซัสที่ดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ใต้ดินมากกว่า 200 ล้านตัน’
เทคโนโลยี CCS คืออะไร
เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage: CCS) คือ กระบวนการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์จากอุตสาหกรรมและกระบวนการผลิต แล้วขนส่งไปกักเก็บที่โครงสร้างทางธรณีวิทยาที่อยู่ชั้นใต้ดินแบบถาวร ไม่กลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ เพื่อไม่ให้เกิดปฏิกิริยาเรือนกระจก (Greenhouse Effect) ปัจจุบันเป็นเทคโนโลยีที่ทั่วโลกให้การยอมรับในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
- การศึกษาของ The Center for Climate and Energy Solutions (C2ES) ระบุว่า เทคโนโลยีดักจับคาร์บอน หากบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกได้ถึง 14% ในปี 2050
- รายงานของ McKinsey พบว่า การใช้เทคโนโลยีดักจับคาร์บอนทั่วโลกต้องขยาย 120 เท่าจากระดับปัจจุบันในปี 2050 เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์
กระบวนการ CCS เป็นอย่างไร
- ดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากภาคอุตสาหกรรมอย่างโรงไฟฟ้าประเภทถ่านหิน กระบวนการกลั่นน้ำมัน การผลิตไฮโดรเจน การผลิตเหล็ก การผลิตปูนซีเมนต์ หรืออุตสาหกรรมขนาดใหญ่จะใช้อุปกรณ์แยกก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากก๊าซชนิดอื่นผ่านกระบวนการทางเคมีด้วยสารละลายเอมีน (Amine) ที่ใช้ทั่วไปในอุตสาหกรรมโรงกลั่นและผลิตก๊าซธรรมชาติแล้วปรับความดันให้เหมาะสมสำหรับการขนส่ง
- ขนส่งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ผ่านทางท่อส่ง เรือ หรือรถบรรทุกเพื่อนำไปกักเก็บถาวร
- การกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แบบถาวรในชั้นหินใต้พิภพที่มีคุณสมบัติและความลึกเหมาะสม ปลอดภัยไม่มีการรั่วไหล
ประโยชน์ของเทคโนโลยี CCS
- ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
- ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)
- ลดปัญหาความแห้งแล้ง
- ยืดอายุการใช้งานของเชื้อเพลิงฟอสซิล ใช้ประโยชน์ได้อย่างต่อเนื่อง
- ส่งเสริมการลงทุน พัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น พัฒนาวัสดุดักจับ CO₂ ฯลฯ
- สร้างตำแหน่งงานใหม่ในตลาดแรงงาน
‘งานวิจัยของ Bloomberg NEF รายงานว่า การกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์ที่ 1.5-15.5 กิกะตัน จะเกิดขึ้นในปี 2030-2050 เพื่อให้อุณหภูมิโลกไม่ร้อนขึ้นมากกว่า 1.5 องศาเซลเซียส’
อนาคตของเทคโนโลยี CCS
- อุตสาหกรรมหนักเริ่มใช้เทคโนโลยีดักจับกักเก็บคาร์บอน
- รัฐบาลทั่วโลกสนับสนุนเทคโนโลยีดักจับกักเก็บคาร์บอน
- เกิดความร่วมมือทางอุตสาหกรรมเพื่อแก้ปัญหาข้อจำกัดของเทคโนโลยีดักจับกักเก็บคาร์บอน
- ภาคเอกชนและรัฐบาลต้องร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหาการจัดการคาร์บอนและภูมิอากาศ
- เทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บคาร์บอนต้องอยู่ในแผนการลดการปล่อยคาร์บอนทั่วโลก
ไทยกับเทคโนโลยี CCS
ประเทศไทยตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษาและพัฒนาโครงการ CCS โดยแต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านการขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจกผ่านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอนในระดับประเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุน แก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกับประชาคมโลก ทั้งนี้เทคโนโลยี CCS ถูกนำไปประยุกต์ใช้อย่างแพร่หลายในภาคพลังงานและอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างยั่งยืน
ซึ่งประเทศไทยเริ่มต้นศึกษาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยี CCS ครั้งแรกที่แหล่งอาทิตย์ แหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ดำเนินการผ่านบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. สผ. มีแผนนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการปรับปรุงคุณภาพก๊าซธรรมชาตินอกชายฝั่งอัดกลับสู่ชั้นหินใต้ดินที่เหมาะสมเพื่อกักเก็บถาวร ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตั้งแต่ต้นทางการผลิต คาดว่าจะเริ่มใช้จริงปี 2570 และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการผลิตปิโตรเลียมได้ประมาณ 700,000-1,000,000 ตันต่อปี
‘ข้อมูลของ Global CCS Institute พบว่า ปัจจุบันมีโครงการ CCS (Carbon Capture and Storage) ที่ดำเนินการแล้วกว่า 50 โครงการทั่วโลก และอีกกว่า 120 โครงการอยู่ระหว่างการศึกษาและพัฒนา อาทิสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร นอร์เวย์ เนเธอร์แลนด์ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฯลฯ’
ความท้าทายของเทคโนโลยี CCS
- ต้นทุนสูงทั้งด้านการลงทุนและการดำเนินงาน
- ความเสี่ยงจากการที่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์รั่วไหลออกมาจากแหล่งกักเก็บ
- ความไม่แน่นอนทางธรณีวิทยาส่งผลต่อประสิทธิภาพของการกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
- ความกังวลด้านความปลอดภัยและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
โครงการ CCS ในประเทศไทยจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยองค์ประกอบหลายมิติในการขับเคลื่อน ทั้งนโยบาย กฎหมาย การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ปัจจัยส่งเสริมการลงทุน ซึ่งต้องได้รับการสนับสนุนจากทั้งภาครัฐและเอกชนในการผลักดันและส่งเสริมการนำเทคโนโลยี CCS มาใช้ในประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน
ข้อมูลอ้างอิง :
- ccsknowledge.com/what-is-ccs
- energy-thaichamber.org/ccs-carbon-capture-and-storage/
- nakhonnayok.mnre.go.th/th/news/detail/171562
- www.bangkokbiznews.com/environment/1060332
- www.globalccsinstitute.com/about/what-is-ccs/
- www.nationalgrid.com/stories/energy-explained/what-is-ccs-how-does-it-work
- www.nstda.or.th/home/knowledge_post/carbon-capture-technology/
- www.pttep.com/th/our-company/ep-net-zero-2050/carbon-capture-and-storage

