ผู้ประกอบการและ วิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมยุคใหม่

Decentralized Finance (DeFi) บริการทางการเงินแบบไม่ต้องมีตัวกลาง

30 มกราคม 2025
|
155 อ่านข่าวนี้
|
0


บริการทางการเงินถูกพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งโดยเฉพาะการนำระบบบล็อกเชนมาใช้อย่าง Decentralized Finance (DeFi) ที่บันทึกและทำธุรกรรมได้โดยไม่ต้องผ่านตัวกลางอย่างธนาคาร สถาบันการเงิน ศูนย์รับแลกเปลี่ยนเงินตราต่างๆ จึงลดโอกาสการโดนโจมตีทางการเงินและการบิดเบือนข้อมูล ซึ่งผู้ประกอบการยุคใหม่ควรศึกษาข้อมูลเพื่อเป็นทางเลือกในการใช้บริการทางการเงินของโลกอนาคต

Decentralized Finance (DeFi) คืออะไร

Decentralized Finance (DeFi) คือ บริการทางการเงินแบบกระจายศูนย์ด้วยการใช้เทคโนโลยี Blockchain ที่ควบคุมได้ทั้งหมด ไม่ต้องผ่านตัวกลางทางการเงิน ข้อมูลโปร่งใส เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการเงิน ทำธุรกรรมได้อย่างรวดเร็ว สร้างความท้าทายให้นักลงทุนพัฒนาประสิทธิภาพทางการเงิน แต่ต้องยอมรับความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีอย่างความปลอดภัยไซเบอร์หรือความซับซ้อนของเทคโนโลยี ปัจจุบันโครงการ DeFi มีทั้งในและต่างประเทศ มีกิจกรรมที่ครอบคลุม ไม่ว่าจะเป็นการให้ยืมและยืมสินทรัพย์ดิจิทัล (Lending & Borrowing) ซึ่งผู้ทำธุรกรรมสามารถฝากสินทรัพย์ดิจิทัลโดยได้รับผลตอบแทนและส่วนแบ่งจากการให้ยืมสินทรัพย์ดิจิทัลและค่าธรรมเนียมที่เกิดขึ้นในระบบ นอกจากนี้ยังมีโทเคนดิจิทัลต่างๆ ให้แก่ผู้ที่ทำธุรกรรมในโครงการ DeFi ซึ่งหลายโครงการมีการต่อยอดเพื่อเพิ่มปริมาณการทำธุรกรรมและส่งเสริมการใช้งานโทเคนของโครงการมากขึ้น 

องค์ประกอบของ DeFi 

  1. DeFi Protocol
    ข้อกำหนดของ DeFi เป็นภาษากลางคอมพิวเตอร์เพื่อสร้าง บริหารจัดการ ดำเนินการ ตรวจสอบข้อมูล รวมถึงแปลงสินทรัพย์ในโลกจริงให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัลโดยอัตโนมัติ 
  2. DeFi Service
    บริการของ DeFi มักอยู่ในรูปแบบแอปพลิเคชันเพื่อบริการทางการเงินและใช้ฟังก์ชันอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งระบบจัดการเบื้องหลังและส่วนที่เชื่อมโยงกับผู้ใช้ 
  3. DeFi Users
    ผู้ใช้งาน DeFi 

โครงสร้างของ DeFi 

  1. ชั้นฐาน (Settlement Layer)
    มีบล็อกเชนและเทคโนโลยี DLT (Distributed Ledger Technology) เครือข่ายจัดเก็บข้อมูลการเป็นเจ้าของได้ปลอดภัย
  2. ชั้นสินทรัพย์ (Asset Layer)
    ประกอบด้วยสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างโทเคน (Token) และ Stablecoin 
  3. ชั้นประตูทางผ่าน (Gateway)
    มักมีกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (Wallet) เพื่อเก็บโทเคนของผู้ใช้งาน 
  4. ชั้นการใช้งาน (Application Layer) 
    และส่วนเชื่อมต่อ (Interface) ในรูปแบบต่างๆ  
  5. ชั้นรวบรวมข้อมูล (Aggregation Layer)
    มีหน่วยสนับสนุนต่างๆ ที่ช่วยการดำเนินงาน

DeFi กับโอกาสทางธุรกิจ

  • เข้าถึงบริการทางการเงินที่ง่ายและโปร่งใส
    DeFi ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถยืมและกู้เงินผ่านแพลตฟอร์มที่ไม่มีตัวกลาง เช่น การให้กู้ยืมโดยใช้เหรียญดิจิทัลเป็นหลักประกัน ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนสร้างรายได้จากการปล่อยสินทรัพย์ดิจิทัลให้ยืม ซึ่งถือเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่มองหาผลตอบแทนเพิ่มเติมจากสินทรัพย์ของตน
  • พัฒนาประสิทธิภาพตลาดการเงิน
    เทคโนโลยี Smart Contract ใน DeFi ช่วยลดขั้นตอนการจัดการแบบดั้งเดิม ทำให้กระบวนการทางการเงินเป็นไปโดยอัตโนมัติ รวดเร็ว และโปร่งใส เช่น ในกรณีของ Uniswap แพลตฟอร์มการแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัลแบบกระจายศูนย์ ผู้ใช้งานสามารถแลกเปลี่ยนเหรียญดิจิทัลโดยไม่ต้องผ่านตัวกลาง ส่งผลให้การทำธุรกรรมมีความสะดวกสบายและรวดเร็วมากขึ้น
  • เปิดโอกาสการลงทุนใหม่ๆ 
    ในตลาดดิจิทัล DeFi นำเสนอนวัตกรรมการลงทุนที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลผ่านแพลตฟอร์มกระจายศูนย์ (Decentralized Exchanges) การลงทุนใน Stablecoins เพื่อรักษามูลค่าในช่วงที่ตลาดมีความผันผวน หรือการเข้าร่วมระดมทุนผ่าน Initial Coin Offerings (ICO) และ Initial Exchange Offerings (IEOs) โครงการเหล่านี้ช่วยให้นักลงทุนทั่วโลกสามารถเข้าถึงสินทรัพย์ที่มีศักยภาพสูงได้โดยตรง เพิ่มโอกาสในการลงทุนในตลาดที่เติบโตอย่างรวดเร็วในอนาคต

ความท้าทายที่ DeFi ต้องเผชิญ

  • ความเสี่ยงด้านความปลอดภัยไซเบอร์
    อย่างการถูกแฮ็กข้อมูล การทุจริตทางไซเบอร์ การรักษาความปลอดภัยจึงเป็นเรื่องสำคัญ ควรเลือกแพลตฟอร์มที่มีมาตรการและเป็นที่ยอมรับด้านความปลอดภัย
  • ความซับซ้อนของเทคโนโลยี
    ต้องมีความเข้าใจเทคโนโลยี Blockchain และ Smart Contract ข้อกำหนด เงื่อนไข ฟังก์ชันต่างๆ เพื่อให้ทำธุรกรรมปลอดภัย ลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้
  • การกำกับดูแล
    เพราะ DeFi ส่วนใหญ่เป็นการทำธุรกรรมออนไลน์ระหว่างประเทศจึงต้องศึกษาขอบเขตของกฎหมายเพื่อให้ใช้งานได้อย่างถูกต้อง 

เรื่องควรรู้ก่อนทำธุรกรรม DeFi  

  • การตรวจสอบด้านกฎหมาย
    พิจารณาว่าธุรกรรมนั้นเข้าข่ายที่ต้องขออนุญาตตาม พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลหรือไม่ หากดำเนินการโดยไม่ได้รับอนุญาตอาจถือเป็นการกระทำผิดกฎหมายและมีโทษตามที่กฎหมายกำหนด รวมถึงต้องปฏิบัติตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย
  • ขาดทุนสินทรัพย์ดิจิทัลชั่วคราว
    จากการเปลี่ยนแปลงของราคาสินทรัพย์ดิจิทัลที่นำไปฝากเมื่อเทียบกับราคาขณะที่ทำการฝากอาจเผชิญภาวะ Impermanent Loss สูญเสียเงินทุน
  • ระวังถูกหลอกลวง
    จากการถูกแฮ็กหรือปัญหาช่องโหว่ใน Smart Contract  ทำให้ผู้ใช้งานเสียหาย โครงการปิดตัวลงและหลอกลวงทรัพย์สินของผู้ซื้อขาย ยิ่งโครงการในต่างประเทศยิ่งต้องระวัง ควรศึกษาโครงการอย่างละเอียด ทั้งเทคนิค เงื่อนไข ฟังก์ชันการทำงาน รวมถึงการตรวจสอบความน่าเชื่อถือและใบอนุญาตที่ถูกต้อง

โดยสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. ได้จากเว็บไซต์ www.sec.or.th หัวข้อสินทรัพย์ดิจิทัล และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือแจ้งเบาะแสได้ที่ศูนย์บริการประชาชน ก.ล.ต. โทร 1207

การใช้งาน DeFi เติบโตอย่างต่อเนื่อง ผู้ใช้บริการหรือนักลงทุนควรต้องศึกษาความรู้ อัพเดต เข้าใจการทำงานของ DeFi และใช้งานอย่างระมัดระวังเพื่อเพิ่มโอกาสการลงทุนและใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ในอนาคต


ข้อมูลอ้างอิง :

  • https://thestandard.co/fintech-into-decentralized-finance/
  • www.bitkub.com/th/blog/whatisdefi-f6dc6916c9a8
  • www.finnomena.com/bitcoinaddict/what-is-defi/
  • www.innovestx.co.th/cafeinvest/investsnack/easyfinance/start-your-first-investment/decentralized-finance
  • www.krungsri.com/th/research/research-intelligence/defi-21
  • www.sec.or.th/TH/Template3/Articles/2564/070664.pdf




0 ความคิดเห็น

Ask OKMD AI