GREEN FINANCE การเงินสีเขียวเพื่อสิ่งแวดล้อมยั่งยืน
การเงินสีเขียว (Green Finance) เป็นเทรนด์การเงินที่กำลังได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นทั่วโลก เพราะเป็นการบริหารการเงินอย่างยั่งยืนไปพร้อมกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จึงไม่แปลกที่ภาคเอกชน ตลาดเงิน ตลาดทุน วางทิศทางการเงินสีเขียวเพื่อสร้างโอกาสในการให้ผลตอบแทนและมีประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม นำไปสู่การทำธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบกับโลกใบนี้
การเงินสีเขียว (Green Finance) คืออะไร
การเงินสีเขียว (Green Finance) คือ การจัดสรรเงินทุน จัดหาแหล่งทุน ระดมทุน เพิ่มกระแสการเงิน เพื่อสนับสนุนธุรกิจ โครงการ กิจกรรมที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ส่งผลให้การจัดสรรเงินทุนตอบโจทย์การดูแลสิ่งแวดล้อม (Environmentalism) และการเติบโตของธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระบบทุนนิยม (Capitalism) ไปพร้อมกัน เป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในการทำธุรกิจยุคใหม่
การจัดสรรเงินทุนเพื่อสิ่งแวดล้อมในไทยมีแนวโน้มเติบโตในอนาคต โดยมีปัจจัยสนับสนุน เช่น นโยบายภาครัฐผลักดันเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งคาดว่าจะสร้างมูลค่าถึง 25% ของ GDP ในปี 2568 นอกจากนี้ยังมีแผนเร่งเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของเงินทุนสีเขียว
เครื่องมือทางการเงินเพื่อเศรษฐกิจสีเขียว
1) สินเชื่อหรือตราสารหนี้
เป็นการจัดหาเงินทุนในรูปแบบของการกู้เงิน โดยการให้สินเชื่อของสถาบันการเงินและการระดมทุนผ่านตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมผ่านการออกพันธบัตรหรือหุ้นกู้เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อม เหมาะกับโครงการที่มีความเสี่ยงต่ำ
2) ตราสารทุน
โดยการระดมทุนผ่านหุ้นหรือกองทุนรวมตราสารทุนเพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Equity Funds) ที่เน้นลงทุนในโครงการหรือกิจการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงลงทุนในธุรกิจร่วมทุน (Venture Capital) กับกิจการที่เอื้อให้เกิดนวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น เป็นความคาดหวังของนักลงทุน
3) เงินฝาก
ลูกค้าฝากเงินไว้กับธนาคารในรูปแบบเงินฝากประจำและเงินที่ลูกค้าฝากไว้จะถูกนำไปใช้ในการสนับสนุนการลงทุนแก่ธุรกิจหรือโครงการที่มีผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม ครอบคลุมเป้าหมายความยั่งยืน
4) รูปแบบอื่นๆ
เช่น การสนับสนุนเงินทุน (Sponsorship) เป็นเงินให้เปล่าจากภาครัฐหรือหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างแรงจูงใจให้กิจการสตาร์ทอัพหรือโครงการด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
เป้าหมายการเงินสีเขียว (Green Finance)
- การเงินสีเขียวส่งเสริมความโปร่งใสและการคิดในระยะยาวของการลงทุนที่ไหลเข้าสู่เป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมและเกณฑ์การพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งหมดที่ระบุไว้โดยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs)
- การเงินสีเขียวครอบคลุมผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน ทั้งผลิตภัณฑ์ การลงทุนการธนาคาร การประกันภัย ซึ่งเครื่องมือทางการเงินหลักในการเงินสีเขียวคือหนี้และหุ้นเพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้น และมีเครื่องมือทางการเงินใหม่ๆ เช่น พันธบัตรสีเขียว เครื่องมือตลาดคาร์บอน ฯลฯ
- การเงินสีเขียวที่ยั่งยืนคือการระดมทุนเพื่อลงทุนในภาคการเงินและสินทรัพย์ทุกประเภทที่ผสาน สิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล (ESG) เข้ากับการตัดสินใจลงทุน และความยั่งยืนในการจัดการความเสี่ยง
โครงการ Green Finance ที่น่าสนใจ
- โครงการพลังงานทดแทน
เช่น โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ช่วยลดการใช้พลังงานจากแหล่งพลังงานที่เป็นแหล่งการเผาไหม้ เช่น น้ำมันหรือถ่านหิน ฯลฯ - โครงการอนุรักษ์พลังงาน
เช่น โครงการติดตั้งระบบอิเล็กทรอนิกส์ในอาคาร ลดการใช้พลังงานที่ไม่จำเป็น ฯลฯ - โครงการจัดการน้ำและบำบัดน้ำเสีย
เช่น โครงการนำน้ำฝนมาให้น้ำในอาคารหรือสนับสนุนโครงการบำบัดน้ำเสียเพื่อลดการปล่อยสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ฯลฯ - โครงการจัดการสิ่งแวดล้อม
เช่น โครงการบริหารจัดการขยะและรีไซเคิลช่วยลดปริมาณขยะ ฯลฯ - โครงการอนุรักษ์ธรรมชาติ
เช่น โครงการอนุรักษ์ป่าหรือฟื้นฟูชีวิตทางน่านน้ำ ทำให้เกิดการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ ฯลฯ
การเงินสีเขียว (Green Finance) ในอาเซียน
ประเทศสมาชิกในอาเซียนมีการออกสินเชื่อและตราสารหนี้สีเขียวประมาณ 58.16 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตั้งแต่ปี 2559-2566 โดยประเทศในอาเซียนที่ออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินสีเขียวอย่างสม่ำเสมอ ได้แก่ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และเวียดนาม
- สิงคโปร์
ออกสินเชื่อและตราสารหนี้สีเขียวมูลค่ารวมมากที่สุด ประมาณร้อยละ 61 ของมูลค่าฯ ในอาเซียน เพราะรัฐบาลมีเป้าหมายที่ต้องการให้สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางการเงินสีเขียวของอาเซียน - อินโดนีเซีย
ออกสินเชื่อและตราสารหนี้สีเขียวมากเป็นอันดับ 2 ในอาเซียน โดยรัฐบาลเป็นผู้ขับเคลื่อนหลัก มีเป้าหมายการลงทุนในหลายอุตสาหกรรม อาทิ พลังงาน การก่อสร้างอาคารสีเขียว การขนส่ง ฯลฯ - ไทย
มีบริษัทเอกชนรายใหญ่เป็นหลักในตลาดการเงินสีเขียว มากกว่าครึ่งหนึ่งของการระดมทุนถูกจัดสรรไปยังภาคพลังงาน ส่วนรัฐบาลไทยออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนครั้งแรกปี 2563 และตั้งแต่ปี 2561-2566 ระดมทุนผ่านตราสารหนี้สีเขียวและตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืนประมาณร้อยละ 23 - ฟิลิปปินส์
ประเทศแรกในภูมิภาคที่ออกหุ้นกู้สีเขียวตั้งแต่ปี 2559 แต่ตลาดเติบโตช้า มีเพียงหุ้นกู้สีเขียวเครื่องมือระดมทุนสีเขียว รัฐบาลได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้นหลังออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนปี 2565 - มาเลเซีย
ผู้นำเครื่องมือทางการเงินอิสลามเพื่อสิ่งแวดล้อมของโลก ประเทศแรกของโลกที่บุกเบิกการออกตราสารศุกูกสีเขียวในปี 2560 มีมูลค่าศุกูกสีเขียวมากที่สุดในโลกจนถึงปี 2563 และในปี 2564 รัฐบาลมาเลเซียออกศุกูกเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Sukuk) เพื่อระดมทุนให้โครงการด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม - เวียดนาม
มีตลาดสินเชื่อและตราสารหนี้สีเขียวประมาณร้อยละ 4 ของมูลค่ารวมในอาเซียน ในปี 2564 เริ่มใช้หุ้นกู้สีเขียวระดมทุนเป็นครั้งแรก รัฐบาลเริ่มให้ความสำคัญกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง
การเงินสีเขียวเพิ่มการไหลเวียนของเงินทุนจากภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรที่ไม่แสวงหากำไรเพื่อนำไปสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริหารจัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างโอกาสในการเพิ่มผลตอบแทนทางธุรกิจควบคู่ไปกับการสร้างประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล
ข้อมูลอ้างอิง :
- 4irelabs.com/articles/green-finance-trends/
- enhrd.dede.go.th/การเงินสำหรับธุรกิจสีเ/
- erdi.cmu.ac.th/?p=6545
- fad.mnre.go.th/th/as/content/459
- knowledgeportal.okmd.or.th/valuechain/66bc5e1022465
- kpmg.com/th/en/home/media/press-releases/2022/04/green-financing-th.html
- www.greenfinanceplatform.org/
- www.greenfinanceplatform.org/page/explore-green-finance
- www.ifc.org/en/what-we-do/sector-expertise/financial-institutions/climate-finance/green-finance
- www.krungsri.com/th/research/research-intelligence/asean-green-finance-2024
- www.krungsri.com/th/research/research-intelligence/green-Financing
- www.nia.or.th/Green-Finance
- www.nia.or.th/Green-Finance-Trends

