ออสโล เมืองสีเขียวแห่งยุโรปและแนวทางสู่ความยั่งยืน
ปี 2019 เมืองออสโลว์ ประเทศนอร์เวย์ ได้รับการยกย่องให้เป็น “เมืองหลวงสีเขียวแห่งยุโรป” (European Green Capital)
เหตุผลหลักๆ ก็คงมาจากความมุ่งมั่นและตั้งใจในการพัฒนาและจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ แม้วันนี้จะผ่านไปเกือบ 5 ปี แต่ออสโลก็ยังคงทำงานตามนโยบายที่วางไว้ เพื่อลดมลพิษและเพิ่มพื้นที่สีเขียว
แต่ถ้าย้อนกลับไปราว 10 กว่าปีก่อน สารตั้งต้นที่ทำให้ออสโลหันมาสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม ก็เพราะอยากให้ประชาชนทุกคนมีชีวิตที่ดีขึ้น
การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน แต่เป็นผลลัพธ์ของการวางแผนระยะยาวและความร่วมมือจากภาครัฐ เอกชน และประชาชน ออสโลให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยสามารถลดลงได้ 28% ระหว่างปี 2009-2022 และลดการปล่อยก๊าซจากหน่วยงานภาครัฐถึง 86% ตั้งแต่ปี 2012 และวางเป้าที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 95% ภายในปี 2030 เตรียมเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานสะอาดและจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ
ออสโลจึงวางนโยบายที่ครอบคลุมทุกด้าน โดยมีเป้าหมายเดียวกัน คือ ทุกเรื่องต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และยังแสดงให้เห็น ว่าแนวคิดเรื่องเมืองสีเขียวไม่ใช่เพียงแค่ทฤษฎี แต่สามารถทำได้จริง
บทความนี้ จะพาไปสำรวจว่าทำไมออสโลถึงสามารถกลายเป็นต้นแบบของเมืองสีเขียว และมาตรการใดบ้างที่ช่วยทำให้เมืองแห่งนี้ยังคงรักษาความยั่งยืนได้อย่างต่อเนื่อง
ระบบขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ออสโลรู้ดีว่าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคขนส่งเป็นกุญแจสำคัญของการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน เมืองจึงปรับปรุงระบบขนส่งให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการใช้พลังงานจากฟอสซิล และส่งเสริมให้ประชาชนใช้ยานพาหนะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
นโยบายเหล่านี้ทำให้ออสโลกลายเป็นหนึ่งในเมืองที่มีระบบขนส่งที่สะอาดและทันสมัยที่สุดในยุโรป ได้แก่
- รถยนต์ไฟฟ้า
ปัจจุบันรถยนต์ส่วนบุคคลในออสโล 40% เป็นรถยนต์ไฟฟ้า และรถใหม่ที่จำหน่ายในปี 2024 90% ก็เป็นรถไฟฟ้า - ขนส่งสาธารณะ
ยานพาหนะที่ใช้สำหรับระบบขนส่งสาธารณะ 70% ใช้พลังงานไฟฟ้า และคาดว่าปี 2026 รถบัสจะขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า 99% - การเดินและการใช้จักรยาน
เพิ่มเส้นทางจักรยานและพื้นที่สำหรับคนเดินเท้า โดยการเดินทางของประชาชนในปี 2023 40% เป็นการเดินเท้า - พลังงานชายฝั่ง (Shore Power)
ท่าเรือของออสโลใช้ระบบจ่ายพลังงานไฟฟ้าเพื่อลดมลพิษจากเรือโดยสารและเรือบรรทุกสินค้า
การเพิ่มพื้นที่สีเขียวและการอนุรักษ์ธรรมชาติ
ออสโลไม่เพียงแต่รักษาธรรมชาติ แต่ยังสร้างความสมดุลระหว่างการพัฒนาเมืองและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เมืองได้เพิ่มพื้นที่สีเขียว แม้ในขณะที่จำนวนประชากรเพิ่มขึ้น ซึ่งแสดงถึงความมุ่งมั่นในการรักษาสิ่งแวดล้อมให้กับคนรุ่นหลัง
ออสโลให้ความสำคัญกับการรักษาสมดุลระหว่างการพัฒนาเมืองและสิ่งแวดล้อม โดยมีโครงการสำคัญ ยกตัวอย่างเช่น
- สวนสาธารณะและทุ่งดอกไม้
ออสโลได้จัดตั้งสวนสาธารณะหลายแห่งและสร้างทุ่งดอกไม้ 26 แห่งเพื่อสนับสนุนความหลากหลายทางชีวภาพ - ฟื้นฟูแม่น้ำและพื้นที่ชุ่มน้ำ
หลายสิบปีที่ผ่านมา แม่น้ำหลายสายในออสโลถูกปิดกั้นเพื่อพัฒนาเมือง ปัจจุบันเมืองได้เริ่มโครงการเปิดแม่น้ำและฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำเพื่อคืนความเป็นธรรมชาติ - การพัฒนาและฟื้นฟูพื้นที่สีเขียว
มีการจัดสรรพื้นที่ 27% ของเมืองให้เป็นพื้นที่สีเขียว อีก 47% ของเมืองมีพืชคลุมดิน
พลังงานและนโยบายสิ่งแวดล้อม
ออสโลเป็นหนึ่งในเมืองที่มีความมุ่งมั่นในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและส่งเสริมการใช้พลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีการดำเนินนโยบายที่ครอบคลุมหลากหลายด้าน
- ห้ามใช้น้ำมันทำความร้อน
ตั้งแต่ปี 2020 ออสโลได้สั่งห้ามการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในการทำความร้อนอาคาร ส่งผลให้เมืองหันมาใช้พลังงานสะอาดและวิธีการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น การใช้พลังงานจากการเผาไหม้ชีวมวลและระบบทำความร้อนจากพลังงานหมุนเวียน - การพัฒนาพลังงานหมุนเวียน
เมืองมีนโยบายสนับสนุนพลังงานสะอาดและใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานที่ไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม - งบประมาณด้านสภาพภูมิอากาศ
ออสโลเป็นเมืองแรกของโลกที่นำระบบงบประมาณสภาพภูมิอากาศ (Climate Budget) มาใช้เพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินงานของเมืองเป็นไปตามเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม
การมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคธุรกิจ
อย่างที่บอกไว้ ออสโลจะเป็นเมืองสีเขียวไม่ได้ หากขาดการร่วมมือของทุกภาคส่วน กล่าวคือ หลังจากประกาศนโยบายออกไป ประชาชน 67% เห็นด้วยกับเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 95% ภายในปี 2030 และบริษัทซัพพลายเออร์ 67% ต้องมีมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงมีโครงการสนับสนุนการเกษตรในเมือง การลดขยะ และการพัฒนานวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ดังนั้น การทำงานและขับเคลื่อนเมืองของออสโลแสดงให้เห็นว่า การเป็นเมืองสีเขียวไม่ใช่แค่แนวคิด แต่เป็นสิ่งที่เป็นไปได้จริง ด้วยการวางแผนที่ดี นโยบายที่เข้มแข็ง และความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เมืองนี้ได้เปลี่ยนผ่านจากการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่ระบบที่ยั่งยืนซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ออสโลไม่ใช่เพียงแค่เมืองที่สวยงาม แต่ยังเป็นแบบอย่างของเมืองที่พร้อมสำหรับอนาคตที่ยั่งยืน
ข้อมูลอ้างอิง :
- City of Oslo. (2024). Oslo: European Green Capital 5-year report. City of Oslo.
- environment.ec.europa.eu/news/oslos-five-year-report-2025-02-04

