นานเท่ากับจำนวนปีการระบาดของโควิด ที่เราไม่ได้เห็นภาพ ‘โปรเจ็กต์’ ของแฟนคลับศิลปินเกาหลีในเมืองไทย เพราะในสถานการณ์ที่ยากลำบากนี้ ทำให้อีเวนต์ของศิลปินต่างชาติโดยเฉพาะศิลปินเกาหลีที่มีแฟนคลับชาวไทยอยู่ล้นหลามต้องงดไปอย่างไม่มีกำหนด
กระทั่งเมื่อต้นเดือนเมษายน หลังจากที่คิมโซฮอน พระเอกซีรีส์เกาหลีดังจาก Hometown Cha-Cha-Cha และ Start-Up ที่ชาวเน็ตฟลิกซ์ติดกันงอมแงม บินฝ่าโควิดมาถึงกรุงเทพฯ พร้อมกับทีมกองถ่ายภาพยนตร์เรื่องใหม่ ที่ยกกองมาถ่ายกันในเมืองไทย การรวมตัวและรวมพลังของ ‘แฟนคลับ’ หรือ ‘แฟนดอม’ เพื่อส่งความรักไปให้ถึงตัวศิลปินที่พวกเขาชื่นชอบ ก็กลับมาให้เห็นอีกครั้ง จนกระทั่งวันสุดท้ายที่พวกเขายกกองกลับเกาหลี
ทั้งภาพของคิมโซฮอนที่ติดอยู่ท้ายรถตุ๊กตุ๊กวิ่งในพื้นที่ใจกลางเมือง การรวมตัวทำกิจกรรมบริจาคเงินให้กับมูลนิธิรามาธิบดีฯ ในวันเกิดของพระเอกดัง ฯลฯ รวมไปถึงการคอยจัดระเบียบแฟนคลับไม่ให้รบกวนศิลปินตลอดช่วงเวลาที่เขาเดินไปบนถนนหนทาง หรือนั่งในร้านกาแฟหรือร้านอาหาร เพื่อสร้างความประทับใจในการมาเมืองไทยให้กับคนที่ปลาบปลื้ม ซึ่งการมาของคิมโซฮอนบอกกับเราว่า แม้จะมีช่วงที่ห่างหาย วัฒนธรรมการแฟนคลับยังคงแสดงออกมาอย่างแข็งแรงอยู่เสมอเช่นก่อนหน้า และพร้อมจะดันโปรเจ็กต์ออกมาต้อนรับศิลปินที่ชื่นชมได้ทันทีที่มีโอกาส
จำได้ไหมว่า ความชื่นชมที่นำมาสู่การต้อนรับอย่างอลังการเหล่านี้เกิดขึ้นในไทยตั้งแต่เมื่อไร ทำไมพวกเขาเหล่านี้ถึงได้ยอมทุ่มเททั้งแรงใจแรงกายและแรงทรัพย์ เพื่อสร้างความประทับใจให้กับศิลปินเหล่านี้ได้มากมายนัก
ปภาดา ราญรอน นักศึกษาสาขาวิชาการวิจัยทางสังคม คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับ ‘แฟนคลับศิลปินเกาหลีกับการทำแฟนโปรเจ็กต์: การเป็นเจ้าแม่โปรเจ็กต์ของแฟนคลับชาวไทย’ เอาไว้ในวันที่ศิลปินเกาหลียังมีโชว์ในเมืองไทย ก่อนที่โควิดจะลามตัวมาจนถึงปัจจุบัน
เมื่อไรกันที่วัฒนธรรมแฟนคลับ ‘จุดติด’ ในไทย
ในเว็บไซต์ของสำนักงานราชบัณฑิตยสภา ให้ความหมายของคำว่า ‘แฟนคลับ’ เอาไว้เมื่อปี 2550 ว่า ‘กลุ่มบุคคลที่มีความสนใจและชื่นชอบบุคคลผู้มีชื่อเสียง’ ในขณะที่ ‘แฟนดอม’ ก็เป็นการวิวัฒน์ของภาษา ที่มาจากการรวมคำระหว่าง Fanclub และ Kingdom อีกที ซึ่งก็มีความหมายทำนองเดียวกันว่า เป็นอาณาจักรของแฟนคลับที่มีความรู้สึกร่วมหลงใหลในศิลปินคนเดียวกันหรือกลุ่มเดียวกัน และร่วมกันทำกิจกรรมเพื่อให้คนที่ชื่นชอบประทับใจและมีความทรงจำที่ดี ที่เรียกว่า ‘แฟนโปรเจ็กต์’ หรือ ‘โปรเจ็กต์’ ซึ่งเดี๋ยวนี้ไม่ได้มีเฉพาะแฟนดอมของศิลปินเท่านั้น แต่ได้ขยายไปสู่วงการอื่นๆ ด้วยเช่นกัน
แต่สำหรับบทความชิ้นนี้ เราหยิบยกเอาวิทยานิพนธ์ของปภาดา ที่ศึกษากลุ่มแฟนคลับของศิลปินเกาหลีโดยเฉพาะ
การทำแฟนโปรเจ็กต์เป็นวัฒนธรรมแฟนคลับที่มีมาอย่างยาวนานมากกว่า 10 ปีแล้ว แต่ในช่วงเริ่มต้นไม่ได้มีการพูดถึงหรือรับรู้แพร่หลายเหมือนปัจจุบัน ที่แฟนโปรเจ็กต์ได้กลายเป็นกิจกรรมที่เหล่าแฟนคลับให้ความสำคัญและยึดมั่นให้เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมแฟนคลับ ที่ต้องทำขณะไปชมคอนเสิร์ต หรือในแฟนมีตติ้ง หรือแม้จะไม่มีการปรากฏตัวของศิลปิน กลุ่มแฟนคลับก็พร้อมจะรวมตัวกันทำโปรเจ็กต์ขึ้นมา เช่น โปรเจ็กต์วันเกิดศิลปิน โปรเจ็กต์อาสาสมัครหรือบริจาคในนามศิลปิน โปรเจ็กต์รวมกลุ่มเต้นแฟลชม็อบ ฯลฯ ที่ทำกันตั้งแต่กลุ่มเล็กไม่กี่คน ไปจนกลุ่มใหญ่มากกว่าพันคน
แต่ในช่วงแรกของโปรเจ็กต์นั้น จะเป็นการจัดขึ้นเป็นครั้งคราวและเป็นการรวมกลุ่มของแฟนคลับเพื่อโต้ตอบกับกลุ่มผู้มีอำนาจอย่างต้นสังกัดหรือค่ายเพลงมากกว่า เพราะในยามนั้น แฟนคลับชาวไทยรู้สึกถูกกดทับโดยบริษัทต้นสังกัด หรือค่ายเพลงของศิลปินที่ชื่นชอบ เนื่องจากการโปรโมตศิลปินจะโปรโมตอยู่ในเกาหลี ญี่ปุ่น และจีนรองลงมา ความน้อยใจนั้นทำให้เกิดคำเรียกแฟนคลับชาวเกาหลีว่า ‘เมียหลวง’ เรียกแฟนคลับชาวญี่ปุ่นว่า ‘เมียพระราชทาน’ และนิยามตัวเองว่าเป็น ‘เมียน้อย’ ที่ค่ายและศิลปินไม่ให้ความสนใจด้วยความตัดพ้อ
และความน้อยใจที่ว่า ก็ผลักดันให้แฟนคลับชาวไทย ฉายแสงให้ตัวเองจนได้ชื่อว่าเป็น ‘เจ้าแม่โปรเจ็กต์’ ในที่สุด
จาก ‘เมียน้อย’ สู่ ‘เจ้าแม่โปรเจ็กต์’
‘ไทยแลนด์แดนโปรเจ็กต์’ เป็นแฮชแท็กบนทวิตเตอร์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปี 2555 ที่ชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมั่นเกี่ยวกับการทำแฟนโปรเจ็กต์ของแฟนคลับชาวไทย ที่มาจากคำพูดถึงของศิลปินและคำชื่นชมของแฟนคลับชาวต่างชาติ เช่นว่า “สมกับเป็นแฟนคลับชาว ไทย”, “ไม่เคยผิดหวังในแฟนโปรเจกต์ของประเทศไทย”, “แฟนคลับชาวไทยไม่ได้ทำแฟนโปรเจกต์กันเล่นๆ” หรือ “เชื่อใจแฟนคลับชาวไทยได้เสมอ”
การได้รับการยอมรับนี้เกิดจากความมุ่งมั่นที่ต้องการให้ศิลปินรู้สึกปลื้มปลิ่มจนสามารถหลั่งน้ำตาออกมา ซึ่งปภาดาผู้ทำการศึกษาชี้ว่า สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงแฟนโปรเจ็กต์ในอุดมคติของแฟนคลับชาวไทย ที่ต้องการสร้างความทรงจำอันลืมไม่ลงให้กับศิลปิน และเมื่อศิลปินร้องไห้ นั่นหมายถึงประสบความสำเร็จ เนื่องจากมีน้อยครั้งที่ศิลปินจะร้องไห้ในคอนเสิร์ตที่แสดงในต่างประเทศ
และแฟนคลับชาวไทยก็สามารถทำให้ศิลปินหลายวงหลั่งน้ำตา จนกลายเป็นมาตรฐานหนึ่งในการทำแฟนโปรเจ็กต์ ที่จะต้องทำให้ศิลปินร้องไห้ในงานคอนเสิร์ตหรือแฟนมีตติ้ง และความมุ่งมั่นในการสร้างความประทับใจของแฟนคลับชาวไทยเมื่อเทียบกับแฟนคลับชาติอื่นแล้ว แฟนคลับชาติอื่นมีความจริงจังในระดับน้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัด
ในสายตาของผู้ทำการศึกษา เมื่อมองผ่านทฤษฎีขบวนการทางสังคมใหม่ (new social movement theory) ที่ให้ความสนใจในประเด็นเชิงโครงสร้าง เธอมองว่าสาเหตุของการเกิดพฤติกรรมรวมหมู่ มาจากการที่แฟนคลับชาวไทยมองว่ามีความเหลื่อมล้ำในกลุ่มแฟนคลับชาติต่างๆ โดยแฟนคลับชาวไทยถือเป็นผู้ที่ถูกลิดรอนผลประโยชน์บางประการ ถึงแม้จะสนับสนับสนุนศิลปินอย่างทุ่มเท แต่ก็ไม่สามารถเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมให้กับตนเองได้
ทว่าแม้จะถูกกดทับโดยผู้มีอำนาจจากต้นสังกัด ก็ไม่ได้ลดความต้องการในการสนับสนุนศิลปินของแฟนคลับลงได้เช่นกัน ซ้ำยังเกิดแรงจูงใจในการสนับสนุนที่มากยิ่งกว่าเดิม สาเหตุส่วนหนึ่งนั้นมาจากความเคยชินต่อการถูกกดทับโดยผู้มีอำนาจ และแม้ว่ากลุ่มแฟนคลับจะตระหนักดีถึงความเหลื่อมล้ำดังกล่าว พวกเขาก็ไม่ได้มีเป้าหมายในการเคลื่อนไหวอย่างจริงจังนอกจากการทำแฟนโปรเจ็กต์เท่านั้น
การแสดงถึงจุดยืนของตนเองและทำการเคลื่อนไหวทางสังคมของแฟนคลับ จึงแสดงออกผ่านการทำแฟนโปรเจ็กต์อย่างยิ่งใหญ่ โดยการเคลื่อนไหวทางสังคมผ่านแฟนโปรเจ็กต์นั้น เป็นการตอบสนองวาทกรรมและอัตลักษณ์ความเป็น ‘แฟนคลับไทย’ ที่มีความลึกซึ้งและให้ความทุ่มเทกับศิลปินไม่ต่างจากแฟนคลับชาติอื่น และเป็นการบอกจุดยืนของแฟนคลับชาวไทยให้ทุกคนได้รับรู้
ประชาธิปไตยในแฟนดอม
การทำแฟนโปรเจ็กต์ของแฟนคลับชาวไทยนั้น มีความซับซ้อนมากกว่าการเป็นเพียงกิจกรรมยามว่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อแฟนคลับชาวไทยถูกจัดวางให้เป็นอัตลักษณ์สำคัญที่แตกต่างไปจากแฟนคลับชาติอื่นๆ กระบวนการจัดทำแฟนโปรเจ็กต์จึงมีความจริงจัง ซึ่งในกลุ่มแฟนคลับจะมีการจัดตั้งองค์กรเฉพาะสำหรับทำแฟนโปรเจ็กต์ หน้าที่ของผู้จัดทำโปรเจกต์คือการเตรียมการและดำเนินงาน พวกเขาจะต้องทำงานอย่างมีระบบขั้นตอน รวบรวมข้อมูลความคิดเห็นของแฟนคลับแล้วนำมาวิเคราะห์ ต้องทำงานร่วมกับบริษัทต้นสังกัดของศิลปิน และนำเสนอแผนงานของแฟนโปรเจ็กต์ที่จะต้องผ่านการตรวจสอบอย่างเข้มงวด
ซึ่งการทำแฟนโปรเจ็กต์ได้เปลี่ยนบทบาททางสังคมของกลุ่มผู้จัดทำโปรเจ็กต์ จากกลุ่มแฟนคลับไปสู่การเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานอย่างมืออาชีพ ไม่ได้ทำขึ้นเพื่อแสวงหากำไร เพียงแต่ต้องการตอบสนองอุดมการณ์ของแฟนคลับในอาณาจักรเดียวกัน โดยใช้ระบบประชาธิปไตยเป็นหลักในการเคลื่อนไหว แม้จะเกิดการปะทะกันทางความคิดระหว่างแฟนคลับกับองค์กรบ้าง เพราะภายในชุมชนแฟนคลับเกาหลีไม่ได้สร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ชัดเจน และการนิยามตนเองของกลุ่มผู้จัดทำโปรเจ็กต์ที่มุ่งทำงานเพื่อเป็นตัวแทนของแฟนดอม ทำให้แฟนคลับระดับปัจเจกถือว่าตนเองก็มีสิทธิในการตัดสินใจเลือกรูปแบบของแฟนโปรเจ็กต์เช่นกัน
ด้วยระนาบของการเคลื่อนไหวเช่นนี้ จึงสอดคล้องกับแนวคิดการเคลื่อนไหวทางสังคมในแนวใหม่ ที่แกนนำในการเคลื่อนไหวไม่จำเป็นต้องเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญ หรือเป็นกลุ่มเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ถึงกระนั้นแม้กลุ่มผู้จัดทำโปรเจ็กต์จะยึดหลักการประชาธิปไตยให้แฟนคลับระดับปัจเจกเป็นผู้ออกความเห็น ก็ยังมีความต้องการเสนอแนวคิดที่มีความพหุนิยมหรือมีความแตกต่าง วิเคราะห์ความเห็นของทุกคนอย่างเท่าเทียม แต่ในสถานการณ์ที่เกิดความขัดแย้ง เสียงของผู้โต้แย้งที่มีอำนาจในการเข้าถึงแฟนคลับระดับปัจเจก เช่น เป็นผู้ที่มีผู้ติดตามในทวิตเตอร์จำนวนมาก ก็สามารถสร้างกระแสทางสังคมภายในกลุ่มได้มากกว่า
ในข้อนี้ผู้เขียนในฐานะที่ยืนอยู่นอกอาณาจักรแฟนคลับ ก็มองเห็นความคล้ายคลึงในการเคลื่อนไหวทางสังคมที่ว่า แม้ทุกคนจะสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเท่าเทียม แต่ผู้ที่มีอำนาจมากกว่า ย่อมสร้างแรงกระทบได้มากกว่าเช่นกัน
อ้างอิง:
วิทยานิพนธ์ หัวข้อ ‘แฟนคลับศิลปินเกาหลีกับการทำแฟนโปรเจ็กต์: การเป็นเจ้าแม่โปรเจ็กต์ของแฟนคลับชาวไทย’ โดย ปภาดา ราญรอน คณะสังคมวิทยาและมานษุยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปีการศึกษา 2562