Notifications

You are here

บทความ

อยากเห็นท้องฟ้าระบายสีหมากสุก

02 พฤศจิกายน 2023 2220 อ่านข่าวนี้ 1 ปีก่อน 3


อยากเห็นท้องฟ้าระบายสีหมากสุก

ชีวิตเด็กบ้านสวนนนท์ริมแม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อประมาณ 40 กว่าปีก่อนนั้นเรียบง่าย ก่อนมีสะพานพระนั่งเกล้า และรถไฟฟ้าสายสีม่วงวิ่งฉิวอย่างทุกวันนี้ การเดินทางออกจากบ้านต้องอาศัยเรือเพียงอย่างเดียว ไม่นั่งเรือหางยาวไปขึ้นท่าน้ำนนท์ ก็เรียกเรือจ้างข้ามฟากไปขึ้นท่าน้ำตลาดขวัญ ชั่วโมงเร่งรีบ เรือโดยสารมักเต็ม จึงต้องเผื่อเวลาตอนเช้ามากสักหน่อย ระหว่างนั่งรอที่ศาลาท่าน้ำ ภาพคุ้นชินคือโค้งน้ำตัดกับเส้นขอบฟ้า เห็นพระอาทิตย์ขยี้ตา บิดขี้เกียจ เอ่ยคำลาพระจันทร์ ก่อนแทงแสงแรกระบายท้องฟ้าด้านทิศตะวันออกเป็นสีหมากสุก

ถึงตรงนี้ เชื่อว่าเด็กเมืองหลายคนไม่รู้ว่าสีหมากสุกเป็นอย่างไร แต่สำหรับเด็กสวนนนท์ที่มีคุณยายกินหมาก แถมปลูกต้นหมากแทรกอยู่ระหว่างต้นทุเรียนในขนัดสวนยกร่อง หมากคือความคุ้นเคย แถมสีหมากสุกก็สวยเสียจนชวนหลงใหล

ความพิเศษของสีหมากสุกคือจะส้มก็ไม่ส้ม จะเหลืองก็ไม่เหลือง แดงรึก็ไม่เชิง ทว่าเป็นสีเหลืองส้ม หรือแดงแกมส้ม สุกสว่างเหมือนแสงพระอาทิตย์ระบายท้องฟ้ายามเช้านั่นละ

ผลดิบหรือผลสดเปลือกผลจะเป็นสีเขียวเข้ม เรียกว่า ‘หมากดิบ’ ผลเมื่อแก่ เรียกว่า ‘หมากสุก’ หรือ ‘หมากสง’ ผลหมากสุก เนื้อในจะแข็งโป๊ก ใช้ประโยชน์โพดผลไม่ค่อยได้ นอกเสียจากผู้เฒ่าผู้แก่ไม่มีหมากจะกินแล้ว จึงอาจเอาไปตำตะบันกินแก้ขัด ส่วนใหญ่หมากสุกยายจะกองทิ้ง หรือถ้าขายก็ไม่ได้ราคา

หมากอ่อน ผ่าออกมาหน้าจะไม่เต็ม ทางที่ดีต้องรอให้ผลแก่พอดีๆ คนปีนหมากเท่านั้นที่รู้ เขาจะต้องปลิดผลออกมาผ่าดูว่าแก่พอหรือยัง ที่บ้านสวนเมืองนนท์ยายปลูกหมากไว้กินเอง กินสดกับพลูและปูนแดง หากมีเหลือจึงแบ่งขาย ขายผลสดก็ได้ หรือเอามาเฉาะและฝานบางเป็นวงกลมขนาดเท่าเหรียญสิบ เรียงทีละแผ่นใส่กระด้ง เอาตากแดด พลิกกลับให้แห้งสนิทดี ก่อนชั่งกิโลฯ ขาย  

โดยส่วนตัวเชื่อว่ากินหมากดิบเก็บสดๆ น่าจะอร่อยกว่ากินหมากแห้งตากแดด เพราะไม่เคยเห็นยายกินหมากตากแห้งเลยสักที แม้คนไทยรุ่นใหม่จะไม่กินหมากกันแล้ว แต่ตลาดอินเดียต้องการมาก เนื่องจากโรงงานจะรับซื้อไปทำสีย้อมผ้า ส่วนตลาดในประเทศที่รับซื้อหมากแก่ เพื่อนำไปกินมีน้อย จะมีก็เฉพาะในเขตที่มีแรงงานพม่าอาศัยอยู่

ชาวสวนเมืองนนท์มักจะปลูกหมากแซมระหว่างต้นทุเรียน เพราะทุเรียนต้องเว้นระยะห่างต่อต้นค่อนข้างเยอะ จึงปลูกหมากหรือผลไม้อื่นแซมในระหว่างแถวทุเรียน ปลูกให้ห่างกัน 1.5-1.8 เมตร กับนิยมปลูกหมากตามแนวรั้วรอบสวน เพื่อให้หมากเป็นแนวกันลม

ยามพายุฤดูร้อนพัดผ่านยายมักจะสวดมนต์ สีหน้าและใจคอไม่สู้ดี เพราะทุเรียนหากขาดพายุเสียแล้วจะขายไม่ได้ราคา หรือถ้ากิ่งฉีกขาดก็เสียหายหนัก ยิ่งถ้าเป็นทุเรียนขาดพายุตอนยังอ่อน ต้องเก็บไว้กวนรวมกับทุเรียนหล่น สภาพสุกงอม

เราสามารถปลูกหมากในแปลงผลไม้ทุกชนิดได้ เพราะรากหมากไม่แย่งปุ๋ยหรืออาหารผลไม้ ดีเสียอีก จะได้เป็นการปลูกพืชแบบสวนผสม และหมากไม่ต้องการการดูแลอะไรมาก ไม่ต้องใส่ปุ๋ย ถึงเวลายายใส่ปุ๋ยขี้ค้างคาวให้ทุเรียน หรือสาดเลน สูบน้ำออก เอาเลนโคลนจากท้องร่องขึ้นมาสาดใส่โคนต้นไม้ หมากก็พลอยได้รับอานิสงส์ไปด้วย

การกินหมากเป็นวัฒนธรรมการกิน

สมัยโบราณ การกินหมากเป็นวัฒนธรรมการกิน (จะเรียกว่าเป็นแฟชั่นสมัยก่อนก็ได้) อย่างหนึ่งของคนไทยและคนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นที่นิยมทั้งในคนหนุ่มสาวและผู้สูงวัย

ด้วยความเชื่อที่ว่า คนที่มีฟันดำคือคนสวย คนงาม อีกทั้งการเคี้ยวหมากยังสร้างความเพลิดเพลิน  วันไหนไม่ได้เคี้ยวหมากพาลให้หมดเรี่ยวหมดแรง นั่งหาวหวอดๆ แต่ปัจจุบันคนที่ยังกินหมากจะเหลือเฉพาะผู้สูงอายุ  หรือใช้เป็นของประกอบพิธีสำคัญๆ เช่น การทำขวัญหรือสู่ขวัญ การตั้งพิธีต่างๆ เท่านั้น

สมัยก่อน ใครๆ ต่างจึงมีหมากพลูติดตัว จีบหมากจีบพลูใส่ซอง ใส่ถุงติดตัวไปไหนมาไหนด้วยเสมอ นึกอยากหมากพลูเมื่อใดก็หยิบขึ้นมาเคี้ยวหรือยื่นให้มิตรสหายได้เคี้ยวด้วยกัน หมากพลูในสมัยโบราณจึงเป็นตัวแทนของความเคารพนับถือ

และมิตรภาพ เห็นได้จากภาพวาดตามฝาผนังวัดโบราณๆ จะมีภาพของผู้คนนั่งล้อมวงกินหมากพลูกัน ใช้เป็นส่วนประกอบในการประกอบพิธีสำคัญ

ครั้งหนึ่งสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นช่วงของการเปลี่ยนผ่านสู่กระแสชาตินิยม วัฒนธรรมการกินหมากของไทยได้รับผลกระทบโดยตรง มีการประกาศห้ามกินหมากและค้าขายหมาก และห้ามทำสวนหมาก โดยมองการกินหมากเป็นสิ่งแสดงถึงความล้าหลังทางวัฒนธรรม ซึ่งสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้ที่กินหมากเป็นอย่างมาก มีการาค้าขายหมากกันในตลาดมืด ทำให้หมากมีราคาแพง เป็นที่มาของสำนวน ข้าวยากหมากแพง

 คนติดหมากก็คงเหมือนติดยาเส้นนั่นละ อาจเกิดอาการเสี้ยนหมากได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อหมดยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม แล้ว รัฐบาลอนุญาตให้กินหมากได้เหมือนเดิม แต่จำนวนคนกินหมากก็ลดน้อยลง เพราะคนเลิกกินหมากส่วนหนึ่ง ประกอบกับสมัยนั้นมีการรับเอาวัฒนธรรมตะวันตกมากขึ้น จึงไม่มีใครนิยมเคี้ยวหมากพลูเหมือนก่อน ทำให้ความนิยมฟันดำก็เลิกราไป หันมานิยมฟันขาวแบบชาติตะวันตก

ถิ่นกำเนิดของหมาก

หมากมีถิ่นกำเนิดมาจากที่ใด เมื่อใด ไม่มีปรากฏหลักฐานเด่นชัด แต่มีหลักฐานที่พบพอจะเชื่อถือได้ว่า มีหนังสือเรื่องหมากเขียนขึ้นในสมัยมาร์โคโปโล และมีผู้ค้นพบหนังสือเล่มดังกล่าวที่เขียนขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1593 (พ.ศ. 2136) โดยให้ชื่อต้นหมากป่าที่พบว่า พินลาง (Pinlang) ซึ่งคำนี้เป็นชื่อเรียกต้นหมากในแหลมมลายูและสุมาตราในปัจจุบัน

ส่วนอีกข้อมูลหนึ่งระบุว่า หมากมีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของทวีปเอเชียเขตร้อน จัดเป็นไม้ยืนต้นจำพวกปาล์ม และในปัจจุบันก็ยังสามารถพบได้ในเขตร้อนหลายประเทศของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียใต้ในแถบมหาสมุทรแปซิฟิก รวมถึงบางส่วนของทวีปแอฟริกา เช่น ประเทศอินเดีย ศรีลังกา พม่า มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และไทย

ในไทย สันนิษฐานว่าการปลูกหมากคงจะมีการปลูกมานานกว่า 700 ปี ทั้งนี้เพราะในสมัยกรุงสุโขทัย มีหลักฐานที่ยืนยันได้ว่าการปลูกหมากเกิดขึ้นแล้วในสมัยนั้น ซึ่งได้แก่ หลักศิลาจารึก หลักที่ 1

ลักษณะของหมาก

  • ต้นหมาก

ต้นหมากสูงประมาณ 10-15 เมตร ลำต้นตั้งตรง เป็นต้นเดี่ยวไม่แตกกิ่งก้าน ลักษณะของลำต้นเป็นรูปทรงกระบอก มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 8-12 เซนติเมตร เปลือกลำต้นเป็นรอยขวั้นรอบๆ ขึ้นไปตลอดลำต้น ในระยะแรกจะเจริญเติบโตด้านกว้างและด้านสูง แต่หลังจากหยุดการเจริญเติบโตจะเจริญเติบโตด้านความสูง

ต้นหมากมีตายอดส่วนปลายสุดของลำต้น ถ้ายอดตายหมากจะตาย ตายอดจะเป็นที่เกิดของใบหลังจากใบร่วงหล่นจะทิ้งรอยติดของใบไว้ เรียกว่าข้อ ข้อของต้นหมากสามารถคำนวณหาอายุหมากได้ 1 ปี โดยหมากจะมีใบหรือข้อเพิ่มขึ้น 5 ใบ หรือ 5 ข้อ

ต้นหมากจะมีเนื้อเป็นเสี้ยนยาวจับตัวกันแน่นบริเวณเปลือกนอกลึกเข้าไปประมาณ 2 เซนติเมตร แต่ส่วนกลางของลำต้นเป็นเสี้ยนไม่อัดแน่น และมีเนื้อไม้อ่อนนุ่มคล้ายกับฟองน้ำ จึงทำให้ต้นหมากเหนียวและสามารถโยกเอนได้มาก ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เจริญเติบโตได้ดีที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลสูงกว่า 700 เมตร

  • ใบหมาก

เป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงเวียนหนาแน่นที่ปลายยอด ก้านใบรวมยาวได้ประมาณ 130-200 เซนติเมตร ลักษณะของใบย่อยรูปใบหอก ปลายใบแหลม โคนใบเรียวแคบ ใบอ่อนมีรอยแยก ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 50-70 เซนติเมตร แผ่นใบเรียบหนา กาบใบหุ้มลำต้น

  • ดอกหมาก (จั่นหมาก)

ดอกหมากจะออกตามซอกโคนก้านใบหรือกาบนอก ดอกออกรวมกันเป็นช่อขนาดใหญ่ประกอบไปด้วยโคนจั่นยึดติดอยู่ที่ข้อของลำต้น ก้านช่อดอกเป็นเส้นยาวแตกออกโดยรอบแกนกลาง มีกลีบหุ้มช่อขนาดใหญ่ยาวประมาณ 40 เซนติเมตร เป็นมันเงา มีใบประดับหุ้มอยู่

ดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่บนต้นเดียวกัน กลีบดอกเป็นสีขาวแกมสีเหลืองมี 6 กลีบ เรียงเป็นชั้น 2 ชั้น สีเขียว ยาวประมาณ 5-6 มิลลิเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้ 6 อัน มีเกสรเพศเมียเป็นเส้น 3 เส้นบาง ๆ แผ่ออก ดอกเพศผู้จะมีขนาดเล็กและอยู่ตรงส่วนปลายของก้านช่อดอก ส่วนดอกเพศเมียจะค่อนข้างใหญ่และอยู่ที่โคนก้านช่อดอก ดอกเพศผู้จะใช้เวลาประมาณ 21 วัน หลังจากนั้น 5 วัน ดอกเพศเมียจะเริ่มบาน

  • ผลหมาก

ผลออกเป็นทะลาย ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม รูปกลมรี รูปไข่ รูปไข่ปลายแหลม หรือเป็นรูปกระสวยขนาดเล็ก โดยเฉลี่ยแล้วผลที่รวกมันเป็นทะลาย ในหนึ่งทะลายจะมีผลอยู่ประมาณ 10-150 ผล ผิวผลเรียบ มีกลีบเลี้ยงติดเป็นขั้วผล ผลมีขนาดกว้างประมาณ 5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 7 เซนติเมตร

ผลประกอบไปด้วย 4 ส่วน คือเปลือกชั้นนอก (ส่วนของเปลือกที่เป็นเยื่อบางๆ สีเขียว เนื้อเปลือกมีเส้นใยละเอียดเหนียว)  เปลือกชั้นกลาง (เป็นเส้นใยหนามากมองเห็นชัด) เปลือกชั้นใน (เป็นเยื่อบาง ๆ ละเอียดติดอยู่กับเนื้อหมาก) และส่วนของเมล็ดหรือเนื้อหมาก เมื่ออ่อนจะนิ่ม เนื้อส่วนผิวจะมีลายเส้นสีเหลืองถึงสีน้ำตาล ส่วนเนื้อจะเป็นสีเหลืองอ่อนๆ ถึงสีเหลืองเข้มอมแดง ภายในผลมีเมล็ดเดียว มักออกผลในช่วงเดือนพฤษภาคม

เสียงเครื่องเรือหางยาวดังไกลมาจากโค้งน้ำฝั่งกระโน้น ถ้าโชคดีคนไม่เต็มลำเรือเสียก่อนคงจะได้โดยสารไปด้วยคน เพราะถ้าพลาดเรือเที่ยวนี้ เห็นพระอาทิตย์โผล่เต็มดวง แผดแสงเปลี่ยนท้องฟ้าจากสีหมากสุกเป็นแดงแจ๊ดเมื่อไร...เมื่อนั้น คงไปโรงเรียนสายแน่นอน

URL อ้างอิง:

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้คุกกี้ (Cookie) เพื่อใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพเว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ นโยบายคุกกี้
ยอมรับ