ทักษะทางการเงิน (Financial Literacy) เป็นสิ่งสำคัญมาตั้งแต่อดีต แต่ด้วยความผันผวนทางเศรษฐกิจ การเข้าสู่ยุคสังคมสูงวัย และโลกที่เปลี่ยนแปลงไปท่ามกลางเทคโนโลยีใหม่ๆ ทักษะทางการเงินในยุคปัจจุบันจึงยิ่งเพิ่มความสำคัญมากขึ้น และกลายเป็นสิ่งจำเป็นต่อการเรียนรู้ เพื่อสร้างอิสรภาพและความมั่นคงทางการเงินในอนาคต
โดยทักษะทางการเงิน มีการให้ความหมายผ่านองค์กรต่างๆ อย่างหลากหลาย อาทิ
องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development-OECD) นิยามว่า คือการตระหนัก ความรู้ความเข้าใจ ความเชี่ยวชาญ ความชำนาญ ทัศนคติ และพฤติกรรม ในลักษณะที่มีผลให้บุคคลเกิดการตัดสินใจทางการเงินที่ดี และในที่สุดจะช่วยส่งผลให้บุคคลมีสุขภาพทางการเงินที่ดี
ธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด (Federal Reserve) ระบุ หมายถึงความสามารถในการเข้าใจและใช้ข้อมูลทางการเงินในการตัดสินใจด้านการเงินที่เป็นประโยชน์ต่อบุคคลและครอบครัว อย่างเช่น การจัดการงบประมาณ การออม การลงทุน การจัดการหนี้สิน
คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐ (Securities and Exchange Commission, United States-SEC) กำหนดว่า เป็นความสามารถในการเข้าใจความหมายของข้อมูลทางการเงินและผลิตภัณฑ์ทางการเงิน และใช้ข้อมูลนี้ในการตัดสินใจทางการเงินอย่างมีเหตุผล
แต่ไม่ว่าจะนิยามความหมายอย่างไร เป้าหมายเดียวกันของทักษะทางการเงิน คือ การสร้างอิสรภาพและความมั่นคงทางการเงินในอนาคตทั้งสิ้น ซึ่งเกิดจากการมีทักษะทางการเงิน แล้วนำทักษะดังกล่าวนั้นมาสร้างเป็นความฉลาด
ความฉลาดอาจแบ่งได้เป็น 4 ประเภท ดังนี้
ความฉลาดในการหารายได้ โดยนอกจากรายได้จากการทำงานทั้งงานประจำและงานรับจ้างทั่วไปแล้ว ผู้ที่มีทักษะทางการเงินจะรู้จักหารายได้เพิ่มเติมจากทรัพย์สินที่มีอยู่ควบคู่ไปด้วย เพราะเมื่อวันหนึ่ง หากรายได้ใดรายได้หนึ่งขาดหายไป ก็ยังมีรายได้อีกทางหนึ่งค้ำจุนเอาไว้ จึงช่วยให้ไม่เกิดปัญหาฝืดเคืองทางการเงินหรือช็อตเงินขึ้นมา
ความฉลาดในการบริหารการใช้จ่าย เนื่องจากทักษะทางการเงิน จะทำให้เกิดความตระหนักถึงการต้องวางแผนการใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง เพื่อให้มีเงินออมหรือเงินเก็บไว้เป็นหลักประกันในอนาคต โดยการรู้จักประมาณการรายรับ-รายจ่ายทั้งปีหรือ 12 เดือนข้างหน้าว่า แต่ละเดือนจะมีรายรับและรายจ่ายอะไรบ้าง แล้วนำมาหักล้างกันเพื่อดูว่าจะมีเงินเหลือเท่าไหร่ พร้อมกับจดบันทึกการใช้จ่ายประจำวัน เพื่อให้ทราบว่าได้ใช้จ่ายตรงตามที่ประมาณการไว้หรือไม่ รวมถึงหมั่นตรวจสอบรายการทรัพย์สินและหนี้สินอยู่ตลอดเวลาด้วย ถ้ามีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน ก็จะวางแผนการใช้จ่ายให้รอบคอบและเหมาะสมยิ่งขึ้น
ความฉลาดในการออม หัวใจสำคัญก็คือ ต้องออมก่อนใช้จ่าย ไม่ใช่ใช้จ่ายแล้วค่อยออม โดยเมื่อมีรายได้เข้ามา ผู้ที่มีทักษะทางการเงินจะรู้จักกันเงินออมเอาไว้ส่วนหนึ่งก่อน เพื่อให้มั่นใจว่าทุกครั้งที่มีรายได้เข้ามา จะมีเงินออมเก็บไว้อย่างแน่นอน ซึ่งอาจเริ่มต้นจากการออมเล็กๆ น้อยๆ เช่น ที่ 10% ของเงินรายได้ แล้วค่อยๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามความเหมาะสม โดยเงินออมสามารถแบ่งได้เป็น 3 ส่วน ส่วนแรกมีไว้เป็นเงินสำรองฉุกเฉินอย่างน้อย 6 เดือน เช่น สมมติมีค่าใช้จ่ายเดือนละ 10,000 บาท ก็ควรมีเงินสำรองฉุกเฉินเก็บไว้ 60,000 บาท เผื่อเกิดเหตุการณ์คาดไม่ถึง ไม่ว่าจะเป็นการตกงานหรือการขาดรายได้จากการทำงาน ก็ยังมีเงินสำรองฉุกเฉินนี้ไว้ช่วยแบ่งเบาภาระได้นั่นเอง
ส่วนที่สองแบ่งไว้เป็นเงินสะสมเพื่อการเกษียณ ซึ่งควรเริ่มสะสมตั้งแต่ในวัยเรียนหรือวัยทำงาน แล้วฝากธนาคารหรือทำประกันแบบสะสมทรัพย์ไว้ โดยยิ่งเริ่มไวเท่าไหร่ยิ่งได้เปรียบเท่านั้น เพราะจะทำให้มีเงินสะสมสำหรับใช้จ่ายในวัยเกษียณมากขึ้น และส่วนที่สาม ก็คือเงินออมที่สะสมไว้ลงทุนอย่างรู้เท่าทัน เพื่อให้เงินงอกเงยมากขึ้นกว่าเดิม
ฉลาดในการลงทุน เป็นความฉลาดที่เชื่อมโยงกับการมีเงินสะสมเก็บไว้เพื่อนำไปใช้ในการลงทุนต่างๆ เพราะปัจจุบันนี้ อัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารลดน้อยลงเรื่อยๆ กอปรกับอัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น ทำให้การลงทุนเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยนำทางไปสู่การเพิ่มพูนรายได้ เช่น การลงทุนในหุ้นกู้ พันธบัตรรัฐบาล การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ สำหรับปล่อยเช่าหรือเก็งกำไร หรือการลงทุนทำธุรกิจที่มีความถนัดหรือมีแนวโน้มที่ดี โดยความฉลาดในการลงทุนนี้ ต้องไม่ลืมขีดเส้นใต้ไว้ด้วยว่า ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง จึงต้องศึกษาข้อมูลความรู้ในการลงทุนอย่างรอบคอบ
จึงเห็นได้ว่า ทักษะทางการเงินเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นต่อการเรียนรู้ ที่สามารถนำมาสร้างความฉลาดเพื่อช่วยให้เกิดอิสรภาพและความมั่นคงทางการเงินในอนาคตได้อย่างดี...
อ้างอิง : www.th.m.wikipedia.org, www.bot.or.th, https://www.bangkoklife.com/HappyLifeClub/en/articles/lifestyle/smart-money-freedom, https://makebykbank.kbtg.tech/articles/financial-literacy#
#financialliteracy #ทักษะทางการเงิน #ความฉลาดทางการเงิน #4ความฉลาดทางการเงิน #อิสรภาพและความมั่นคงทางการเงิน #knowledgeportal #okmd #กระตุกต่อมคิด