มากกว่าเทรนด์โลก แต่เวลานี้ยังเป็นยุคของเอไอที่เข้มข้นขึ้นทุกขณะ ขณะเดียวกันประเทศไทยเองมีศักยภาพในการพัฒนาเทคโนโลยีเอไออย่างก้าวหน้า มากกว่าแค่ตั้งรับ แต่เพื่อใช้ประโยชน์และสร้างแนวทางเพื่อสนับสนุนการเติบโตในด้านนี้
สำหรับแนวทางที่ต้องกล่าวถึงเพื่อยืนยันว่าไทยเรามีวิสัยทัศน์ในโลกเทคโนโลยีเอไอ คือ AI Thailand โครงการปัญญาประดิษฐ์ระดับประเทศ ที่ภาครัฐมีมติเห็นชอบให้ขับเคลื่อน เตรียมพร้อมด้านเอไอในการพัฒนาชาติอย่างครอบคลุมตั้งแต่ พ.ศ.2565-2570 ที่เวลานี้คนไทยกำลังได้เห็นความคึกคักในหลากหลายประเด็นที่เกี่ยวของกับเอไอ รวมถึงประเด็นต่อไปนี้
การสร้างบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านเอไอ :
เก็บตกจาก “สรุปสาระเสวนาพิเศษ หัวข้อ แนวทางการพัฒนากำลังคนด้าน Artificial Intelligence (AI) จากการประชุมมอบนโยบายการพัฒนากำลังคนด้าน Artificial Intelligence (AI)” โดย NECTEC มีหนึ่งในตัวอย่างสำคัญคือ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม พร้อมเดินหน้าใช้จัดการเรียนการสอนในสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศผ่าน “AI University” สู่ “Education 6.0” ตั้งเป้าให้บัณฑิตร้อยละ 90 มีความรู้พื้นฐานด้านเอไอหลังจบการศึกษา พร้อมนำร่องความร่วมมือมหาวิทยาลัยกับภาคเอกชน ตั้งเป้าผลิตบุคลากรด้านเอไอ 30,000 คนภายใน 3 ปี ผลักดันไทยสู่ผู้นำอาเซียน รวมถึงให้ความสำคัญกับการศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบอื่นๆ ของไทย
การสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสม :
นอกจากเข้าถึงอินเทอร์เน็ตคุณภาพสูง รองรับการใช้งานเอไอในอุตสาหกรรมต่าง ๆ สิ่งสำคัญไม่น้อยกว่ากันคือการสร้างระบบนิเวศเพื่อดึงดูดการลงทุนเกี่ยวกับการสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานสำหรับเอไอ โดยมีแนวโน้มสำคัญ เช่น การเยือนไทยของนายเจนเซน หวง ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง NVIDIA ที่ประกาศวิสัยทัศน์ “อธิปไตยทางปัญญาประดิษฐ์” ในงาน AI Vision for Thailand พร้อมหนุนไทยให้พัฒนาด้านเอไอด้วยตนเองได้ ผ่านความร่วมมือกับ 3 พันธมิตร ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล CMKL และ True IDC เตรียมติดตั้ง GPU H100 เพื่อวางรากฐานเทคโนโลยี
การร่วมมือกันกับองค์กรและองค์กรระดับสากล:
ด้วยเพราะเอไอเป็นเทคโนโลยีที่ไร้พรมแดน จึงจำเป็นอย่างยิ่งในการร่วมมือกันตั้งแต่หาแนวทางพัฒนา ป้องกันภัยที่อาจเกิดขึ้น ไปจนถึงวิเคราะห์ผลลัพธ์ที่ยังมองไม่เห็น จึงเป็นเรื่องน่ายินดี สำหรับการประกาศความร่วมมือครั้งสำคัญในการเป็นเจ้าภาพร่วมจัดงาน UNESCO Global Forum on the Ethics of AI 2025 ครั้งที่ 3 ของโลก 24-27 มิถุนายน พ.ศ. 2568 ที่กรุงเทพฯ ภายใต้แนวคิด “Ethical Governance of AI in Motion” สอดคล้องตามกรอบ UNESCO’s AI Readiness Assessment (UNESCO RAM) ที่จะเป็นประโยชน์กับผู้ใช้เทคโนโลยีเอไอในประเทศไทย
สำหรับความจำเป็นเร่งด่วน สิ่งที่ควรเสริมสร้างเวลานี้คือการปลูกฝังแนวคิดจริยธรรมและส่งต่อความรู้ด้านความปลอดภัยในการใช้เอไอ ท่ามกลางการพัฒนาสู่การเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี
#AI #Humanresources #Education #Investment #Collaboration #เอไอ #ทรัพยากรบุคคล #การศึกษา #การลงทุน #ความร่วมมือ #KnowledgePortal #okmd #กระตุกต่อมคิด